สัปดาห์ที่ 19 ของการตั้งครรภ์
อัปเดต
ลูกจะสร้างไขสีขาวขึ้นมาเคลือบร่างกาย ไขสีขาวนั้นปกป้องและรักษาความชุ่มชื้นบนผิวของเขาขณะคลอด และจะมีประโยชน์ต่อตัวลูกน้อยต่ออีกเมื่อคลอดออกมาแล้ว
ช่วงนี้คุณแม่อาจมีอาการขาเป็นตะคริวหรือมีฝ้าดำขึ้นบนใบหน้า
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกมีความยาวประมาณ 15 ซม.น้ำหนักประมาณ 240 กรัมหรือประมาณลูกอะโวคาโด
ไขที่เคลือบผิว: ร่างกายของลูกจะถูกเคลือบด้วยไขสีขาวที่มีชื่อว่า Vernix caseosa ไขสีขาวนี้จะคงความชุ่มชื้นให้กับผิว ปกป้องผิวจากน้ำคร่ำ และช่วยให้เขาคลอดออกมาได้ง่ายขึ้น เปรียบเหมือนสารหล่อลื่นทางธรรมชาตินั่นเอง
แม้หลังคลอด ไขสีขาวนี้ก็ยังช่วยคงความชุ่มชื้นให้ผิวและปกป้องผิวจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย นี่จึงเป็นเหตุผลที่แพทย์ไม่แนะนำให้อาบนำ้ให้เด็กทารกทันทีหลังคลอด และองค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำให้รออย่างน้อย 6 ชม. ก่อนอาบนำ้ให้ทารกหลังคลอด
แขนและขา: ลูกเริ่มดูเหมือนคนทั่วไปมากขึ้นเพราะแขนและขาเริ่มมีขนาดสมส่วนกับส่วนอื่นของร่างกายแล้ว
ควบคุมร่างกายได้ดีขึ้น: เซลล์ประสาทมีสร้างการเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้ลูกสามารถควบคุมแขนขาได้ดีขึ้น
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้เกิดรอยแตกบริเวณขาและหน้าท้อง และคุณแม่อาจมีอาการปวดหลังหรืออาการอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย
ฝ้า: คุณแม่อาจมีรอยดำขึ้นบนบริเวณใบหน้าหรือส่วนอื่นของร่างกาย รอยดำนี้คือ ฝ้า หรือ ฝ้าในคนท้อง โดยปกติแล้วฝ้านี้ไม่ส่งผลอันตรายกับคุณแม่หรือสุขภาพของลูก และจะจางหายไปเองหลังคลอด
ขาเป็นตะคริว: ขาเป็นตะคริวเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ และมักจะเกิดในเวลากลางคืน วิธีป้องกันอาการขาเป็นตะคริวคือ ให้คุณแม่ยืดกล้ามเนื้อน่องก่อนนอน เคลื่อนไหวบ่อย ๆ และดื่มน้ำเยอะ ๆ การอาบน้ำอุ่น หรือประคบเย็นอาจช่วยได้ด้วยเช่นกัน
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
เพื่อลดแรงที่กดลงบนหลังและสะโพก คุณแม่สามารถลองนอนตะแคงและใช้หมอนรองวางระหว่างหัวเข่าทั้งสองข้าง
การรักษาฝ้า: ถ้าคุณแม่ต้องการรักษารอยฝ้าเพื่อความสวยงาม ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของวิธีการรักษา และปรึกษาหมอผิวหนังหรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง และควรศึกษาว่าครีมหรือยาที่จะใช้นั้นปลอดภัยหรือไม่ หรือมีผลข้างเคียงอะไรบ้างต่อคุณแม่และลูก
ศึกษาเกี่ยวกับมาตรการการดูแลเด็กแรกคลอด: การอาบน้ำให้เด็กแรกคลอดถือเป็นเรื่องปกติที่ปฏิบัติกัน แต่โรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติหลังคลอด และให้ความสำคัญต่อไขสีขาวมากขึ้น คุณแม่อาจตรวจสอบโรงพยาบาลของคุณแม่ว่ามีมาตรการการดูแลเด็กทารกแรกคลอดอย่างไรบ้าง มีการรอเวลาก่อนจะอาบนำ้ให้ทารกหลังคลอดหรือไม่ และมีมาตรการห้ามรบกวนเวลาของแม่และลูกในชั่วโมงแรกหลังคลอดไหม
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)