สัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์
อัปเดต
ยินดีด้วย! คุณแม่ได้เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์แล้ว! ตอนนี้ลูกสามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ และกำลังเริ่มฝึกหายใจ อีกสองสัญญาณที่บ่งบอกว่า เจ้าตัวน้อยเริ่มพร้อมมากขึ้นที่จะออกมาเจอโลกภายนอกแล้ว
คุณแม่อาจต้องอดทนกับความเจ็บปวดอีกสักหน่อย ก่อนที่จะได้อุ้มลูกตัวน้อยไว้ในอ้อมแขน
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่เขาสะสมไขมันไว้ใต้ชั้นผิวหนังมากขึ้น และอาจกำลังสนุกกับการฝัน! เพราะในตอนนี้เขาเริ่มมีวัฏจักรการนอนหลับเหมือนกับคุณแม่แล้ว หรือที่เรียกว่า REM และ non-REM
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 1.15 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 37 เซนติเมตร มีขนาดประมาณลูกมะเขือม่วง
แอบมอง: เปลือกตาของลูกเปิดอ้าเล็กน้อยเหมือนกับว่าเขากำลังแอบดูคุณแม่อยู่ ในขณะเดียวกันจอประสาทตาของหรือเรตินาของเขา จุดที่แสดงตกกระทบและทำหน้าที่แปลงสัญญาณแสงเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปประมวลผลที่สมอง กำลังพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ขนตาเส้นเล็ก ๆ ก็กำลังค่อย ๆ งอกขึ้นมาแล้ว
ปอดสามารถหายใจได้: ปอดของลูกพัฒนาจนมีจำนวนถุงลมและสารลดแรงตึงผิวมากเพียงพอที่จะใช้สำหรับกระบวนการการหายใจแล้ว โดยถุงลมมีหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในขณะที่สารลดแรงติวผิวจะทำหน้าที่เป็นเหมือนฟิล์มเคลือบอยู่บริเวณด้านในของถุงลมช่วยคงสภาพไม่ให้ถุงลมเสียหายจากการหดขยาย ซึ่งหมายความว่าเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุ 28 สัปดาห์มีโอกาสรอดชีวิตสูงภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ระบบประสาท: ระบบการหายใจและอุณหภูมิร่างกายของลูกถูกควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลางโดยตรงแล้ว การควบคุมอุณหภูมิร่างกายถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับลูก เพราะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าเขาพร้อมที่จะออกมาใช้ชีวิตนอกครรภ์คุณแม่ได้
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
อาการของกรดไหลย้อนและอาหารไม่ย่อย อาจยังไม่ดีขึ้นในช่วงนี้ และจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้คุณแม่มีเลือดกำเดาไหลได้
น้ำตาลในเลือดสูง: หากคุณแม่มีอาการหิวน้ำบ่อย ปวดหัว ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่ง หรือมีอาการตาพร่ามัว คุณแม่อาจมีน้ำตาลในเลือดสูง(hyperglycemia) ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ใน 10% ของผู้หญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นในช่วงสัปดาห์ที่ 26-28 คุณหมออาจทำการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ให้กับคุณแม่ โดยให้คุณแม่กลืนน้ำตาลกลูโคสและเจาะเลือดนำไปตรวจ หากคุณแม่มีกรุ๊ปเลือด Rh- คุณหมออาจฉีดยาแอนติบอดีให้ในช่วงนี้ด้วย
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
ในอีก 12 สัปดาห์ ลูกก็จะคลอดออกมาแล้ว ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่เข้าคอร์สเรียนรู้วิธีการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการปั๊มหัวใจ (CPR) รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอื่นๆ ให้กับลูกน้อย
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)