ดาวน์โหลดแอป

การตรวจคัดกรองที่คุณหมอแนะนำ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

เกร็ดความรู้

การตรวจคัดกรองที่คุณหมอแนะนำ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทสัมภาษณ์ของคุณหมอกวาง – พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ สูตินรีแพทย์สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยา และหนึ่งในทีมแพทย์ของมะลิ

ในการตั้งครรภ์มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างทั้งที่คุณแม่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เช่น โรคทางพันธุกรรม อย่าง ธาลัสซีเมีย หรือดาวน์ซินโดรม และยังมีโรคอื่น เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ MS (Multiple Sclerosis) ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้ คุณแม่สามารถรู้ก่อนได้ จากการตรวจคัดกรอง เพื่อดูโอกาสและความเสี่ยงในการเกิดโรคเหล่านี้

ช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรอง?
หากเป็นไปได้คือช่วงตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพราะเมื่อตรวจแล้วยังต้องใช้เวลาในการรอผลเลือดอีก ซึ่งเมื่อได้ผลมา คุณหมอก็จะสามารถตรวจเพิ่มเติมต่อได้ ยกตัวอย่างเช่น ธาลัสซีเมีย เมื่อตรวจแล้วเราจะได้ข้อมูลมาว่า ลูกเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นธาลัสซีเมียกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งธาลัสซีเมียนั้นมีหลายชนิด หากเป็นชนิดที่รุนแรงมาก น้องก็อาจจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ แต่ถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรง ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอาการเช่น ภาวะซีด ธาตุเหล็กเกิน ที่อาจเป็นปัญหาตามมาในภายหลัง

การตรวจคัดกรองมีกี่แบบ และคุณหมอแนะนำแบบไหน?
การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมมีหลายแบบ แบบแรกเป็นวิธีที่เจ็บตัวน้อย และความแม่นยำค่อนข้างสูง อยู่ที่ราว 99% กลุ่มนี้เรียกว่าการ Non-invasive prenatal testing (NIPT) เป็นการเจาะเลือดคุณแม่เพื่อตรวจหาโครโมโซมของลูก ค่าใช้จ่ายในการทำจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 – 20,000 บาท แล้วแต่ยี่ห้อ

อีกแบบเป็นการคัดกรองแบบเก่าแก่ ที่ผลออกมาจะความแม่นยำไม่เท่าแบบแรก รูปแบบการแสดงผลจะบอกเป็นความเสี่ยงที่อัตราส่วนเท่าไหร่ เช่น ลูกมีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม 1 ใน 700 คน เป็นต้น แบบนี้เรียกว่า Maternal Serum Screening (MSS) ค่าใช้จ่ายของการทดสอบแบบนี้จะถูกกว่าแบบแรก อยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาท

โดยส่วนตัวของหมอ ถ้าคุณแม่อายุน้อย ประวัติครอบครัวไม่มีความเสี่ยง แล้วไม่ได้อยากเสียเงินมาก หมอก็จะแนะนำให้ทำแค่ MSS พอ แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ติดเรื่องงบประมาณ และอยากได้ความมั่นใจมาก ๆ หมอก็จะให้ทำ NIPT ส่วนถ้าคุณแม่อายุในวันคลอดเกิน 35 ปี ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำ แต่ก็ขึ้นกับคุณแม่ด้วยว่าไม่ได้มีความกังวลเรื่องความเสี่ยงจากการเจาะน้ำคร่ำ เช่น การแท้ง หรือน้ำคร่ำรั่ว ที่อาจเกิดขึ้นได้

คุณแม่ทุกคนจะได้ตรวจคัดกรองแบบเดียวกันไหม?
โดยทั่วไปแล้วเหมือนกัน แต่โรคทางพันธุกรรมอย่างธาลัสซีเมียนี่เป็นโรคที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเยอะ คือคนไทยเป็นพาหะของโรคนี้เยอะมาก ประเทศเราจึงต้องมีแนวทางปฏิบัติให้คนท้องควรตรวจคัดกรองโรคนี้ก่อน

คือเรื่องความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรมนั้นขึ้นอยู่กับชนชาติด้วย แต่ประเทศก็จะมีโรคทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันไป ความรุนแรงของโรคก็ต่างกันด้วย แต่ละประเทศจึงมีแนวทางในการตรวจคัดกรองโรคที่ต่างกัน เช่น คุณแม่คนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ก็จะมีรายการตรวจที่ต่างจากครรภ์ที่เกิดจากคุณพ่อคุณแม่คนไทยทั้งคู่

การตรวจคัดกรองคือเป็นสิ่งที่คุณหมอบังคับตรวจ หรือยังเป็นเพียงทางเลือกของคุณแม่?
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ทั้งหมด เพราะในเมืองไทย การตรวจคัดกรองยังเป็นเพียงทางเลือก ยังไม่ใช่สวัสดิการที่ให้ตรวจได้ฟรี มันจึงเป็นค่าใช้จ่ายที่คุณพ่อคุณแม่ต้องวางแผนเผื่อเอาไว้

แต่อย่างการตรวจโรคธาลัสซีเมียนั้น ในกรณีที่คุณแม่ตรวจคัดกรองแล้วพบว่ามีภาวะเสี่ยง สามารถให้คุณหมอทำเรื่องส่งตัวเพื่อไปใช้สิทธิ์บัตรทองที่โรงพยาบาลของรัฐเพื่อตรวจเพิ่มเติมได้ ข้อเสียคือใช้ได้เพียงบัตรทองเท่านั้น ประกันสังคมใช้ไม่ได้ จึงไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงสิทธิ์นี้

ปัจจุบันความเสี่ยงจากการเจาะน้ำคร่ำลดลงไหม?
ลดลงเยอะมากแล้วค่ะ มีบางงานวิจัยรายงานว่าความเสี่ยงลดลงมาอยู่ที่ 1 ใน 700 จากแต่ก่อนอยู่ที่ 1 ต่อ 100-200 ส่วนเรื่องความเจ็บยังเหมือนเดิมค่ะ (หัวเราะ)

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเจาะน้ำคร่ำไม่ใช่การตรวจคัดกรอง แต่เป็นการตรวจวินิจฉัย คือคุณแม่เมื่อได้ผลจากการตรวจคัดกรอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม หากพบว่ามีความเสี่ยงสูง หรือไม่แน่ใจในค่าตัวเลข คุณหมอก็จะเข้าสู่การตรวจวินิจฉัยด้วยการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อเป็นตัวตัดสิน

สำหรับคนที่กำลังวางแผนมีจะมีเจ้าตัวน้อย คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไร เพื่อให้คุณแม่สามารถเตรียมตัวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ?
หากคุณแม่วางแผนเอาไว้แล้วว่าจะมีบุตร สิ่งที่สามารถทำได้เลยคือการกินโฟลิก ในหลายประเทศมีการใส่โฟลิกเข้าไปในขนมปัง ในอาหารที่วางจำหน่ายทั่วไป รวมถึงใส่ไว้ในยาคุมกำเนิด เผื่อในกรณีที่พลาดท้องขึ้นมา คุณแม่ก็จะยังมั่นใจได้ว่า มีโฟลิกเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โฟลิกเป็นสิ่งสำคัญและทำได้ง่ายมาก หาซื้อไม่ยากและราคาถูก แต่ในบ้านเรายังขาดการสื่อสารที่เพียงพอในเรื่องนี้

อย่างที่สองคือการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เพื่อดูความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ที่มีผลต่อลูก การรับวัคซีนเช่นหัดเยอรมัน ให้เรียบร้อยก่อน ก็จะช่วยให้เมื่อตั้งครรภ์จริง ๆ จะสามารถลดความเสี่ยง และความกังวลหลายอย่างไปได้

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (2 เมษายน 2019)

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน