ดาวน์โหลดแอป

ไตรมาสที่ 2 จากคุณหมอ

อัปเดต

ไตรมาสที่ 2 จากคุณหมอ

ไตรมาสที่ 2 นั้นถือว่าเป็นเวลาทองของคุณแม่ตั้งครรภ์หลาย ๆ ท่าน เพราะอาการแพ้ท้องจะน้อยลง คุณแม่รู้สึกมีแรงและสดชื่นมากขึ้น

คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าไตรมาสที่ 2 ซึ่งนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 14-27 นั้นค่อนข้างจะสบายกว่าไตรมาสแรก อาการแพ้ท้องก็จะหายไป ยังไม่มีความรู้สึกไม่สบายตัวจากหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของลูกในครรภ์ที่จะมารบกวนคุณแม่ได้ 

พัฒนาการของลูก
ในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้อวัยวะของลูกจะค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น เช่นไตของลูกก็จะมีการทำงาน ผลิตปัสสาวะได้ในปริมาณน้อย ๆ เขาจะเริ่มนอนแล้วก็ตื่นเป็นเวลา และยังเริ่มขยับ ยืดตัวและเตะได้บ้างแล้ว ในสัปดาห์ที่ 10 เขาจะได้ยินเสียงคุณแม่พูดได้แล้ว ผิวของลูกจะถูกปกคลุมด้วยลานูโก้อ่อน ๆ ถ้าคุณแม่ทำอัลตราซาวนด์ในช่วงนี้ก็สามารถจะทราบเพศของลูกได้ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 24 เป็นต้นไป ลูกก็จะมีโอกาสปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีที่มีการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ส่วนใหญ่แล้วลูกจะอยู่ในท้องคุณแม่ต่อไปจนถึงสัปดาห์ที่ 39-41 

อาการของคุณแม่
แน่นอนว่าในไตรมาสที่ 2 การตั้งครรภ์ของคุณแม่จะสังเกตได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะถูกเริ่มทักว่าตั้งครรภ์ก็ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป ในขณะที่ช่วงตัวและหน้าอกของคุณแม่ขยายขึ้น คุณแม่บางท่านจะเริ่มสังเกตว่ามีรอยแตกลายบนผิวหนังบ้าง มีเส้นสีคล้ำขึ้นตั้งแต่บริเวณช่วงสะดือจนถึงท้องน้อย เส้นนี้เรียกว่า Linea Nigra ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณที่เกิดจากการตั้งครรภ์ อาการเหล่านี้จะไม่เกิดอันตรายกับคุณแม่ และก็มักจะหายไปหลังคลอด คุณแม่สามารถทาครีม หรือโลชั่นเพื่อช่วยบำรุงผิวได้ แต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่จะรับรองว่าจะป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้จริง 

อาการแพ้ท้องมักจะเริ่มลดลงในไตรมาสที่ 2 คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกถึงการเตะของลูกได้ในช่วง สัปดาห์ที่ 16-20 โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่การตั้งครรภ์ครั้งแรก คุณแม่จะรู้สึกชัดเจน และเร็วขึ้น ถ้าคุณแม่ไม่สามารถรู้สึกถึงการขยับของลูกได้เลย หรือรู้สึกว่าเขาขยับลดลง ควรปรึกษาแพทย์ทันที

น้ำหนักตัวและขนาดตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคุณแม่อาจทำให้เกิดอาการใหม่ ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น เช่น การปวดหลัง ปวดเมื่อยช่องท้อง ตะคริว ริดสีดวง อาการท้องผูก หรือจุกเสียดอาหารไม่ย่อย รวมไปถึงความเจ็บในบริเวณหลังและเชิงกราน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้ข้อต่อและเส้นเอ็นต่าง ๆ ของคุณแม่คลายตัว จึงเกิดอาการไม่สบายตัวขึ้น 

การปรับตัว
ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าปวดหลัง ลองพยายามนั่งหลังตรง ยืดหลังให้มากขึ้น นอนตะแคงโดยใช้หมอนรองระหว่างขาสองข้าง และก็เลิกใส่ส้นสูง ถ้าพบว่ามีขนหรือผมบริเวณที่แปลก ๆ คุณแม่สามารถที่จะโกนหรือถอนออกได้โดยไม่เกิดอันตราย แต่อย่าทำเลเซอร์ เพราะอาจทำให้ผิวคุณแม่เกิดอันตราย 

ในการจัดการกับอาการจุกเสียด หรือกรดไหลย้อน ลองเปลี่ยนมารับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ ให้ถี่ขึ้น อย่าเพิ่งล้มตัวลงนอนหลังจากรับประทานอาหารทันที และเลิกทานอาหารที่มีรสเผ็ด ดื่มน้ำเยอะ ๆ ควบคุมจำนวนน้ำตาล และหันมารับประทานอาหารพวก ปลา ผลไม้ และผักให้มากขึ้น 

คุณแม่ควรเริ่มออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การเดินเพียง 20-30 นาที สามารถช่วยให้การไหลเวียนโลหิต เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้ ถ้าคุณแม่ออกกำลังกายอยู่ที่บ้าน อย่าทำท่าที่นอนหงายนานเกินไป ยืดตัวมากเกินไป หรือลงน้ำหนักบนท้องโดยเด็ดขาด 

นัดคุณหมอ
ในระยะนี้คุณหมออาจเริ่มมีการตรวจเพิ่มเติม ช่วงนี้เป็นช่วงที่คุณแม่จะได้เจอคุณหมอ ซัก 2-3 ครั้ง ถ้าคุณแม่ยังไม่เคยได้ฟังเสียงหัวใจหรือทำอัลตราซาวนด์ ในช่วงนี้คุณหมอก็จะทำอัลตราซาวนด์ให้ และสามารถทราบเพศของลูกได้ แต่ถ้าอยากจะรอลุ้นตอนคลอดก็สามารถแจ้งแพทย์ไว้ล่วงหน้าได้ ใน

ช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 คุณหมอจะตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ Gestational Diabetes เป็นอาการของคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานมาก่อน แต่กลับมีน้ำตาลสูงขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าคุณหมอตรวจพบว่าคุณแม่เป็นโรคนี้ ก็จะทำให้ลูกมีโอกาสมากที่จะมีน้ำหนักเยอะเกินไปขณะคลอด และคุณหมอก็จะแนะนำให้คุณแม่ควบคุมระดับน้ำตาลโดยการคุมอาหาร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย หรือบางครั้งถ้าควบคุมไม่ได้อาจจะมีการใช้อินซูลิน คุณแม่สามารถใช้เวลาในการนัดปรึกษาคุณหมอในเรื่องอื่น ๆ ที่กังวลเช่น วิธีการคลอด หรือการใช้ยาขณะคลอด ถ้าคุณแม่สนใจจะคลอดแบบธรรมชาติ และถ้าคุณไม่สบายใจกับคุณหมอที่ยังพบอยู่ ระยะนี้ยังพอมีเวลาที่จะเปลี่ยนคุณหมอ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือคุณแม่ควรจะรู้สึกสบายใจ วางใจกับคุณหมอที่จะดูแลคุณแม่ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ไปจนถึงเวลาคลอด

ในช่วงนี้คุณแม่ควรทำใจให้สบาย และทำกิจกรรมที่ทำได้ตามปกติ อาจจะพยายามตั้งสติและทำอะไรให้ช้าลง เพิ่มความระมัดระวังสักนิด เพราะตอนนี้คุณแม่ไม่อยู่ตัวคนเดียวแล้ว ยังมีลูกในท้องให้ต้องนึกถึงอีกด้วย

คำอธิบาย โดย นพ. วรชัย ชื่นชมพูนุท

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน