ปวดท้องในขณะตั้งครรภ์ อาการปวดแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?
คุณแม่
อาการปวดท้อง หรือปวดบีบ เป็นอาการปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของสิ่งที่ร้ายแรงกว่าที่ควรต้องให้คุณหมอเป็นผู้วินิจฉัย
อาการปวดแบบใดบ้างที่ไม่เป็นอันตราย?
ไม่มีอะไรที่คุณแม่ต้องกังวลถ้าหากความเจ็บปวดนั้นไม่รุนแรงและหายไปได้เองเมื่อคุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถ นอนพักผ่อน หรือผายลม อาการปวดท้องที่ไม่เป็นอันตรายซึ่งอาจปวดแบบตื้อ ๆ หรือปวดแปลบอาจเกิดจาก:
- อาการปวดเส้นเอ็น เกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นยืดออกเพื่อรองรับหน้าท้องของคุณแม่ที่กำลังโตขึ้น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเหมือนเป็นตะคริว เจ็บ เสียดที่ด้านหนึ่งของหน้าท้องส่วนล่าง
- ท้องผูก
- มีแก๊สในท้องมากกว่าปกติ
อาการที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ทันทีมีอะไรบ้าง?
คุณแม่ควรไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลทันทีหากมีอาการปวดท้องพร้อมกับอาการดังต่อไปนี้:
- มีเลือดออก
- ปวดบีบเกร็งเป็นประจำ
- มีตกขาวผิดปกติ
- ปวดหลังส่วนล่าง
- ปวดหรือแสบขณะปัสสาวะ
- อาการปวดนั้นรุนแรง หรือไม่หายไปหลังจากที่คุณแม่พักเป็นเวลา 30 ถึง 60 นาทีแล้ว
ภาวะที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างเร่งด่วนได้แก่:
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก: คือภาวะที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิและมีการฝังตัวนอกมดลูก อาจมีอาการปวดท้อง รวมถึงปวดที่หัวไหล่ และรู้สึกไม่สบายขณะปัสสาวะและอุจจาระ มักจะปรากฏอาการขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 – 12 ของการตั้งครรภ์
- การแท้งบุตร: มีอาการปวดบีบและมีเลือดออกก่อนสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการแท้งบุตรได้
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ: อาการปวดใต้ซี่โครงนั้นสามารถพบได้บ่อยในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากทารกในครรภ์โตขึ้น และมดลูกดันขึ้นไปบริเวณใต้ซี่โครง แต่หากมีอาการเจ็บปวดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านขวา ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ (คือมีความดันโลหิตสูงในการตั้งครรภ์) และคุณแม่จะต้องได้รับการตรวจในโรงพยาบาล อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการมองเห็น และมีอาการบวมที่เท้า มือ และใบหน้าร่วมด้วย
- คลอดก่อนกำหนด: หากคุณแม่ตั้งครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ และมีอาการปวดท้องเป็นประจำ ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะนี่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการคลอดก่อนกำหนด
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด: ภาวะที่รกเริ่มหลุดออกจากผนังมดลูก ซึ่งมักจะทำให้มีเลือดออก และปวดท้องอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ซึ่งไม่เหมือนกับอาการเจ็บครรภ์ทั่ว ๆ ไป และอาจเป็นเหตุฉุกเฉิน เพราะหมายความว่ารกอาจไม่สามารถทำหน้าที่ส่งอาหารและอากาศให้ทารกในครรภ์ได้อย่างสมบูรณ์
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (UTI): การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ และสามารถรักษาได้ง่าย โรคนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย และบางครั้งก็รู้สึก เจ็บหรือแสบในขณะปัสสาวะ
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (30 พฤษภาคม 2019)