ดาวน์โหลดแอป

รวมข้อห้ามขณะตั้งครรภ์ ทุกอย่างที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้

กิจกรรม

รวมข้อห้ามขณะตั้งครรภ์ ทุกอย่างที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้

ร่างกายของคุณแม่จะพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในขณะที่ตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงมีข้อควรระวังหลายประการ มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ทำได้และไม่ได้ 

ไม่ว่าคุณแม่จะอยู่ในช่วงไหนของการตั้งครรภ์ แม้แต่ไตรมาสแรกที่ภายนอกดูเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงภายในอื่น ๆ เช่น ระดับฮอร์โมนจะเปลี่ยนไปอย่างมาก นอกจากนี้สมองของลูกก็จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในชีวิตของเขากล่าวโดยสรุปแล้วตอนนี้คุณแม่ได้ตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์ และควรรับผิดชอบอย่างเต็มที่กับสถานการณ์นี้

อาหารและเครื่องดื่ม

เมื่อคุณแม่ทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มทุกชนิด ลูกก็จะได้ทานอาหารนั้น ๆ ไปด้วยในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา ส่วนประกอบในอาหารบางอย่างอาจทำให้เกิดอันตรายต่อพัฒนาการของลูก และอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาเมื่อลูกโตขึ้นได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้

แอลกอฮอลล์: การดื่มแอลกอฮอลล์ช่วงตั้งครรภ์เป็นพิษต่อลูก โดยอาจทำให้เกิดการแท้งบุตร ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และยังทำให้เกิดปัญหาทางร่างกาย ปัญหาทางพฤติกรรม และยังอาจมีผลต่อพฤติกรรมและสติปัญญาของทารกที่รู้จักกันในชื่อว่า FASD (fetal alcohol spectrum disorders) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของทารกที่ได้รับแอลกอฮอล์ขณะอยู่ในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่ตั้งครรภ์

ยา: ถึงแม้ว่ายาสามัญประจำบ้านที่มีขายทั่วไปจะมีความปลอดภัยสูง แต่ยาบางชนิดยังไม่ได้พิสูจน์ว่าปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทุกครั้งก่อนใช้ยาทุกชนิด 

เนื้อสัตว์ดิบและหอย: ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น หอยนางรม หอยตลับ และเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่สุก เพราะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อ Toxoplasma และ Salmonella ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูก

อาหารทะเลและปลาบางชนิด: ควรหลีกเลี่ยงปลาที่มีสารปรอทในปริมาณมาก การบริโภคสารปรอทในระหว่างตั้งครรภ์มีผลทำให้พัฒนาการล่าช้าและอาจสร้างความเสียหายต่อสมองของลูกน้อยในครรภ์ ตัวอย่างของปลาที่มีสารปรอท ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทง ปลาโอ ปลาทูน่าและปลาขนาดใหญ่อื่น ๆ ส่วนปลาทูน่าบรรจุกระป๋องส่วนใหญ่มีปริมาณปรอทต่ำกว่าปลาทูน่าชนิดอื่น ๆ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

ซูชิ: การรับประทานปลาดิบบนซูชิในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์นั้นปลอดภัย ตราบใดที่ปลาดิบที่ใช้ในการทำซูชินั้นผ่านการแช่แข็งมาก่อน กระบวนการแช่แข็งสามารถทำลายหนอนปรสิตขนาดเล็กและทำให้ปลาดิบปลอดภัยสำหรับการบริโภค อย่างไรก็ตามวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการรับประทานซูชิก็คือเลือกแบบปรุงสุกหรือมังสวิรัติ

อาหารเนื้อตัดเย็น (Cold cut): อาหารเนื้อตัดเย็น หรือ Cold cut อาจมีเชื้อแบคทีเรีย Listeria ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถผ่านจากรกไปทำให้ลูกติดเชื้อได้ การติดเชื้อในครรภ์อาจนำไปสู่อาการเลือดเป็นพิษและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับลูกในครรภ์ได้

ไข่ดิบ: หลีกเลี่ยงไข่ดิบและอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นคุณแม่ควรระมัดระวังน้ำสลัดโฮมเมด มายองเนส ไอศกรีมโฮมเมดหรือคัสตาร์ด เพราะไข่ดิบสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Salmonella ได้

นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์: นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ หรือนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย Listeria ดังนั้นก่อนดื่มนมคุณแม่ควรตรวจสอบให้ดีว่านมนั้นผ่านการพาสเจอไรซ์มาแล้วหรือยัง

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน: คาเฟอีนจากชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และจากแหล่งอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย และการแท้งบุตรได้ ถึงแม้จะมีผลการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ยังขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วคุณแม่ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งคิดเป็นประมาณกาแฟสดจากร้าน 1 แก้วหรือกาแฟร้อนแก้วเล็ก 2 แก้ว

ผักที่ไม่ผ่านการล้างให้สะอาด: การรับประทานผักนั้นปลอดภัยและมีความสำคัญมากเพื่อการบริโภคอาหารอย่างสมดุล อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผักนั้นได้ผ่านการล้างให้สะอาดเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ Toxoplasma และพยาธิบางชนิดซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในดินที่ใช้ปลูกผัก ไม่ควรรับประทานต้นอ่อนดิบ เช่น ถั่วงอก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียสามารถแทรกตัวเข้าไปในเมล็ดถั่วงอกและแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะล้างออกได้

กิจกรรมทางร่างกาย

การตั้งครรภ์ทำให้ร่างกายของคุณแม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และการติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้นมีกิจกรรมบางอย่างที่ควรหลีกเลี่ยงดังนี้ 

ยกของหนัก: ไม่ควรยกของหนัก ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ อุ้มเด็ก หรือถือของใช้หนัก ๆ จากซุปเปอร์มาร์เก็ต การยกของหนักซ้ำ ๆ เป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ หากคุณแม่มีงานที่ต้องใช้ร่างกายบ่อย ควรปรึกษาหัวหน้างานเพื่อย้ายไปทำงานอื่นชั่วคราว

กิจกรรมที่เหน็ดเหนื่อยมาก: นอกเหนือจากการยกของหนักแล้ว การก้มตัวบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ย่อตัว หรือยกของขึ้นเหนือหัวบ่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้แท้งบุตรได้เช่นกัน ดังนั้นควรหาคนอื่น ๆ มาทำกิจกรรมเหล่านี้แทนคุณแม่ หรือหากจำเป็นต้องทำควรพักบ่อย ๆ ระหว่างทำกิจกรรมเหล่านี้

ยืนหรือนั่งนานจนเกินไป: ในขณะตั้งครรภ์ การอยู่ในท่าเดิม ๆ นานจนเกินไป เช่น นั่ง หรือยืน อาจทำให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง เช่นข้อเท้าบวม และปัญหาเส้นเลือดขอด ลองสละเวลาสั้น ๆ เพื่อเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ถ้าคุณแม่นั่งนานในระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดปัญหาหลายประเภทรวมถึงข้อเท้าบวมและปัญหาหลอดเลือดดำ ถ้าคุณแม่นั่งนาน ให้ลองลุกขึ้นแล้วเดินไปรอบ ๆ หรือคุณแม่ยืนอยู่ ก็ให้ลองหาที่พักเท้าแล้วยกขาขึ้นวางบนที่พักเท้าเพื่อผ่อนคลายดูบ้าง

การแช่น้ำร้อน: หลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อน ห้องซาวน่า โยคะร้อน หรือพิลาทิสร้อน การอยู่ในอุณหภูมิที่มากกว่า 40 องศาเซลเซียส (104 ฟาเรนไฮต์) อาจทำให้ร่างกายร้อนเกินไป ขาดน้ำ และเป็นลมได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกหากมีอุณหภูมิร่างกายสูงเกินไปจะมีผลให้เกิดความผิดปกติแรกคลอดตามมาได้ หากคุณแม่มีปัญหาปวดเมื่อย ให้แช่น้ำอุ่น ๆ แทน

การนวด: หลีกเลี่ยงการนวดตัว โดยเฉพาะการนวดที่มีการบิดตัว ยืดตัวอย่างรุนแรง หรือมีการกดเส้นแรง ๆ เนื่องจากท่าเหล่านี้ไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ หากคุณแม่ต้องการแก้ปวดเมื่อยและไม่มีปัญหาสุขภาพ สามารถรับการนวดก่อนคลอดโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาตอย่างปลอดภัยได้ 

ทำความสะอาดกระบะทรายแมว: อุจจาระแมวสามารถนำพาเชื้อ Toxoplasma หรือโรคปรสิตที่หายากอื่น ๆ ถ้าหากคุณแม่จำเป็นต้องทำความสะอาดกระบะทรายให้เจ้าเหมียว ควรสวมถุงมือและล้างมือให้ดีหลังจากทำเสร็จ

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างมาก เพราะจะช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งโดยรวมแล้วจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูก อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจต้องปรับเปลี่ยนการออกกำลังกายบ้างในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อให้เข้ากับร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป และควรหลีกเลี่ยงกีฬาบางชนิดไปเลย ข้อแนะนำในการออกกำลังกายมีดังนี้

อย่าออกกำลังกายในอากาศร้อน และมีความชื้นมาก: เพื่อป้องกันร่างกายร้อนเกิดไป ควรออกกำลังในเวลาเช้า เย็น หรือในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศจะดีกว่า

หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ: หลีกเลี่ยงกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ชกมวย และกีฬาอื่น ๆ ที่อาจมีการปะทะ กีฬาเหล่านี้อาจทำให้เกิดแรงกระแทกบริเวณหน้าท้องได้ ดังนั้นควรงดไปก่อน

หลีกเลี่ยงกีฬาที่เสี่ยงต่อการหกล้ม: หลีกเลี่ยงกีฬาที่เสี่ยงต่อการล้ม หล่น เช่นการโต้คลื่น ขี่จักรยาน ยิมนาสติก ขี่ม้า และกิจกรรมอื่น ๆ 

หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องนอนราบ: ถึงแม้ว่าโยคะจะเป็นกิจกรรมที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงท่านอนราบกับพื้น เพราะเมื่อคุณแม่ท้องใหญ่มาก ๆ น้ำหนักของครรภ์จะไปทับเส้นเลือดใหญ่และทำให้เป็นลมได้

ไม่ควรดำน้ำลึก: เนื่องจากตอนนี้ลูกยังไม่สามารถปกป้องตัวเองจากความกดอากาศใต้น้ำได้

ไม่ควรออกกำลังกายจนเหนื่อย: ขณะออกกำลังกายคุณแม่ควรใส่ใจร่างกายตนเองให้มาก และพักเมื่อต้องการ สัญญาณเตือนได้แก่ความรู้สึกมึนหัว จะเป็นลม หายใจไม่ทัน และหัวใจเต้นเร็ว

เครื่องสำอาง

ถึงแม้สินค้าทั่วไปในท้องตลาดจะมีความปลอดภัย แต่สารเคมีบางชนิดที่ผสมในเครื่องสำอางอาจดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและทำอันตรายต่อลูกน้อยได้ จึงมีข้อควรระวังดังนี้ 

หลีกเลี่ยงเรตินอยด์: เรตินอยด์ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอนั้นเป็นสารที่ใช้ทั่วไปในสกินแคร์เพื่อลดริ้วรอย และลดสิว แต่สารเหล่านี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติแรกคลอดได้ จึงไม่ควรใช้ในทุกกรณี

ระวังการใช้ยาทาเล็บ: ยาทาเล็บของคุณอาจมีสารพาทาเลท สารที่ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อที่พบได้ในสินค้าเพื่อความงามต่าง ๆ และเป็นพิษต่อลูกน้อย ดังนั้นควรเลือกยาทาเล็บแบบไม่มีสารพาทาเลท หรือหลีกเลี่ยงการทาเล็บไปก่อนในช่วงนี้ หากคุณแม่ต้องทำงานในร้านทำเล็บ ควรขอย้ายไปทำตำแหน่งที่ไม่ต้องเจอกับสารเคมีในยาทาเล็บเป็นการชั่วคราว

เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย

คุณแม่ควรเปลี่ยนไปใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์หากเสื้อผ้าที่ใส่ปกติเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว และควรระวังการแต่งกายต่อไปนี้

หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดเกินไป: เสื้อผ้าที่รัดร่างกายมากเกินไปจะไปขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปที่อวัยวะเพศ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อยีสต์ได้อีกด้วย เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนและอาหารไม่ย่อย ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์

รองเท้าส้นสูง: คุณแม่สามารถใส่รองเท้าแบบมีส้นที่ส้นใหญ่และมั่นคงได้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักหน้าท้องเพิ่มมาก การใส่รองเท้าส้นสูงในช่วงที่ท้องใหญ่จะไปปรับท่ายืนของคุณแม่ ทำให้มีความเสี่ยงจะเสียสมดุลและล้ม นอกจากนี้การใส่ส้นสูงจะไปเพิ่มแรงกดที่หลังส่วนล่างและกระดูกเชิงกราน ทำให้ปวดหลังอีกด้วย

การนอนหลับ

การนอนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลตนเองของคนท้อง มีข้อควรระวังดังนี้

หลีกเลี่ยงการอดนอน: คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องการนอนหลับมากกว่าปกติสองสามชั่วโมงต่อวัน ควรหลีกเลี่ยงการอดนอน งานวิจัยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันจะเจ็บท้องคลอดนานกว่า และมีโอกาสต้องผ่าคลอดมากกว่า

หลีกเลี่ยงท่านอนหงาย: ท่านอนหงายไม่เหมาะสำหรับคนท้องไตรมาสที่สองเป็นต้นไป เพราะน้ำหนักลูกอาจกดทับเส้นเลือดใหญ่จนทำให้คุณแม่หายใจติดขัด ความดันต่ำลง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก มีปัญหาในการย่อยอาหาร และอาจทำให้เป็นริดสีดวง นอกจากนี้อาจทำให้ปวดหลังได้ 

หลีกเลี่ยงท่านอนคว่ำ: ถึงแม้ท่านอนคว่ำจะไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยเนื่องจากมีผนังมดลูกที่หนาปกป้องอยู่ แต่อาจทำให้ไม่สะดวกสบายในช่วงหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่ชอบนอนคว่ำ อาจหาหมอนทรงโดนัทมาช่วยในการนอน

ไม่ควรนอนตะแคงท่าเดียวนาน ๆ : ถึงแม้จะแนะนำให้นอนตะแคงทางซ้าย แต่พยายามสลับท่านอนตะแคงบ้างเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

การดูแลสุขภาพจิต

คุณแม่กว่า 1 ใน 5 คนจะมีปัญหาสุขภาพจิตระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือหลังการคลอด ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ความเครียดต่อเนื่องจะเป็นพิษต่อลูก และส่งผลเสียอื่น ๆ ตามมาได้ หากคุณแม่มีความเครียด ควรระวังเรื่องต่อไปนี้ 

ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ : คุณแม่แต่ละคนมีประสบการณ์การตั้งครรภ์ที่แตกต่างกัน ควรโฟกัสไปที่ความเป็นอยู่ที่ดีของคุณแม่เองให้มากที่สุด

ไม่ควรอายเรื่องปัญหาสุขภาพจิต: บางสังคมและวัฒนธรรมอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอับอายที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างไรก็ตามควรทราบว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้นอยู่เหนือการควบคุมของคุณเพราะมักเกิดจากผลกระทบทางใจในวัยเด็ก หรือเกิดจากพันธุกรรม ดังนั้นไม่มีอะไรต้องอายเลย

อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ: หากคุณแม่รู้สึกว่าปัญหาสุขภาพจิตทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาคุณหมอหรือนักบำบัด ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะสามารถแนะนำการรักษาเช่นการใช้ยา หรือการบำบัดที่เหมาะสม โปรดทราบว่าการเก็บทุกอย่างไว้คนเดียวจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงสำหรับคุณแม่และลูก นอกจากนี้ การพูดคุยกับเพื่อน คนในครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้นำทางความเชื่อจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นได้ ผู้หญิงหลายคนพบว่าการทำสมาธิ แสงแดดและการออกกำลังกายก็ช่วยพัฒนาสุขภาพจิตได้เช่นกัน

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน