สาเหตุของการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด
คุณแม่
คุณแม่บางคนอาจมีปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด
ในความเป็นจริงแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของคุณแม่ที่มีลูกแล้วก็อาจมีอาการนี้บ้างเป็นครั้งคราว
การสังเกตอาการ
ในระหว่างตั้งครรภ์ปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ หากคุณแม่มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ อาจพบอาการดังต่อไปนี้:
- ปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จาม ยกสิ่งของ หัวเราะ หรือออกกำลังกาย
- ไม่สามารถควบคุมการผายลมได้
- มีความต้องการปัสสาวะหรืออุจจาระอย่างกะทันหัน
- มีอุจจาระเล็ดออกมาหลังจากขับถ่ายแล้ว
- มีปัญหาในการทำความสะอาดหลังการขับถ่าย
- มีความยากลำบากในการขับถ่าย อาจต้องใช้การเปลี่ยนท่า หรือใช้นิ้วช่วย
- รู้สึกว่ามีก้อน หรือถ่วง ๆ ในช่องคลอด (ส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงตอนเย็นๆ) ซึ่งบ่งบอกว่าอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของคุณแม่อย่างน้อยหนึ่งส่วนอาจหย่อนคล้อยลง
การวินิจฉัยอาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
แม้ว่าการที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอลงจะทำให้คลอดง่าย แต่ก็มักทำให้คุณแม่บางคนประสบปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่มากขึ้น เช่น อาการลำไส้แปรปรวน หรือต้องการปัสสาวะกะทันหัน
ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ได้แก่:
- ตั้งครรภ์ลูกคนแรก
- ทารกในครรภ์ตัวใหญ่
- ใช้เวลาในการคลอดนาน โดยเฉพาะในช่วงที่ 2 ของการคลอด
- มีปัญหาจากการคลอดทางช่องคลอด เช่น มีการฉีกขาดหรือมีการเย็บช่องคลอด เนื่องจากมีการใช้อุปกรณ์ช่วย เช่นการใช้คีมหนีบหรือเครื่องดูดสุญญากาศ
การจัดการกับปัญหากล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ
การคลอดอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานของคุณแม่ยืดออก นี่คือบางวิธีที่อาจช่วยทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานได้ดีขึ้น:
- พยายามขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานค้างไว้ก่อนที่จะไอ จาม สั่งน้ำมูก หรือยกของ
- ไขว้ขาและหนีบให้แน่นก่อนที่จะไอหรือจามในแต่ละครั้ง
- ขอให้คนอื่นช่วยถือ หรือยกของหนักแทน
- งดการออกกำลังกายที่มีการกระเด้งหรือแรงกระแทก
- ฝึกออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
อาการหลังการคลอด 6 เดือน
ถึงแม้ว่าอาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ของคุณแม่จะแย่มาก แต่ส่วนมากอาการมักจะดีขึ้นภายใน 6 เดือนแรกหลังคลอด หากอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 6 เดือน คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ นักกายภาพบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญ
อาการปัสสาวะเล็ดกับการผ่าคลอด
การคลอดโดยการผ่าตัดคลอดสามารถลดความเสี่ยงของปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่อย่างรุนแรงได้
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (7 มิถุนายน 2019)