ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ ร้องไม่หยุด: อาการโคลิค
พัฒนาการเด็ก
บางครั้งเด็กอ่อนจะร้องไห้งอแงและอาจดูเรื่องเยอะบ้างเป็นปกติ แต่ถ้าเด็กที่สุขภาพดีทุกอย่างมีช่วงที่อารมณ์เสีย ร้องไห้เสียงแหลม และปลอบยากบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงภาวะโคลิคได้
โคลิคคืออะไร?
อาการโคลิคคือการร้องไห้อย่างควบคุมไม่ได้ของเด็กทารกที่สุขภาพดีและได้รับประทานอาหารเพียงพอ เป็นอาการที่เกิดในเด็กทารกจาก 1 ใน 5 คน มักแสดงอาการหลังคลอดไม่กี่สัปดาห์ และจะมีอาการสูงสุดในช่วงอายุ 6 สัปดาห์ โดยปกติช่วง 3-4 เดือนจะอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน อาการโคลิคไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อตัวเด็กทารก และไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว เพียงแต่อาจทำให้ชีวิตผู้ดูแลอย่างพ่อและแม่ยากขึ้น
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกเป็นโคลิค
- อาการที่เกิดขึ้นในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 5 เดือน
- ร้องไห้โดยดูเหมือนจะไร้เหตุผล แม้แต่ตอนที่ไม่ใช่เวลากินนมหรือไม่ได้ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม
- เริ่มร้องไห้ตอนเย็น หรือเริ่มร้องเวลาเดิมทุกวัน
- ร้องเหมือนจะกรี๊ดด้วยเสียงแหลมและดังมากกว่าเสียงร้องไห้ปกติ
- มีอาการไม่อยู่นิ่ง ดูหงุดหงิด หรือร้องไห้อย่างต่อเนื่อง และทำให้หยุดร้องไม่ได้ ไม่ว่าคุณแม่จะกล่อมหรือให้นมก็ตาม
- ร้องไห้โดยที่ไม่ได้เจ็บป่วย ไม่มีไข้ หรือโรคอื่นๆ
โคลิคเกิดจากอะไร ?
สาเหตุของโคลิคยังเป็นปริศนา ณ ตอนนี้เรายังไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่ามันเกิดจากอะไร แต่สิ่งต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุได้
- เด็กมีนิสัยอ่อนไหวและต้องการความสนใจมากกว่าปกติ
- ระบบประสาทที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่
- อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าเป็นพิเศษ
- อาจมีอาหารที่คุณแม่กินซึ่งรบกวนเด็กที่ดื่มนมแม่
- ให้เด็กกินนมมากไปหรือเร็วเกินไป
- แก๊สในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการกลืนลมมากเกินไปเวลาร้องไห้หนัก
- ไม่ได้เรอหลังมื้ออาหาร
- กรดไหลย้อน
แล้วทำอย่างไรดี ?
ปรึกษาหมอเด็ก (กุมารแพทย์) ประจำตัวเรื่องการร้องไห้ของลูก หมอจะได้ดูว่าไม่ได้ร้องไห้เพราะเหตุผลอื่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร หรือทางเดินปัสสาวะ และหมอจะสามารถช่วยดูได้ว่าพัฒนาการของลูกกำลังเป็นไปอย่างปกติดีหรือไม่
คำแนะนำในการรับมือกับโคลิค
- พยายามเตรียมอาหารของคุณพ่อคุณแม่ไว้ล่วงหน้าจะไม่ได้ต้องฉุกลหุกเมื่อถึงตอนเย็น
- ในช่วงที่รับมือยาก ๆ ให้คุณแม่และคู่ชีวิตหรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัวช่วยกันอุ้มลูก
- ถ้าลูกร้องไห้มากเกินกว่าคุณแม่จะรับไหวและไม่รู้จริง ๆ ว่าจะทำอย่างไร ให้วางลูกลงในที่ปลอดภัย ออกไปอยู่กับตัวเองสักครู่ หายใจเข้าลึก ๆ แล้วเตือนตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป
- พยายามนอนหลับเวลาที่ลูกนอนหลับ เพื่อที่คุณแม่จะได้พักผ่อนให้มากที่สุดและเตรียมรับมือกับงานหนัก
- นึกไว้เสมอว่านี่ไม่ใช่ความผิดของคุณแม่ คุณแม่ไม่ได้เป็นแม่ที่ไม่ดี และลูกน้อยก็ไม่ได้ป่วย แค่อาการโคลิคเฉย ๆ เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (20 มีนาคม 2019)