อยู่ไฟหลังคลอด คืออะไร จำเป็นหรือไม่สำหรับคุณแม่หลังคลอด
เกร็ดความรู้
อยู่ไฟหลังคลอดสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอด ช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว ขับน้ำคาวปลา และน้ำนมไหลสะดวก และมีหลายแบบหลายวิธี แบบไหนดีสำหรับคุณแม่มือใหม่บ้าง
บทสัมภาษณ์พี่เอ้ (ยุพาพร คำทอง) ผู้เชี่ยวชาญด้านอยู่ไฟได้มากว่า 20 ปี และได้รับใบประกอบวิชาชีพจากกระทรวงสาธารณสุข
“การอยู่ไฟ” คืออะไร
การอยู่ไฟ คือ ขั้นตอนปฎิบัติสำหรับหญิงหลังคลอดที่จะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็ว หรือที่เคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า มดลูกเข้าอู่ เพราะร่างกายของผู้หญิงหลังคลอดผ่านความเครียดจากการอุ้มท้องและการคลอดมาอย่างต่อเนื่อง การอยู่ไฟในปัจจุบันจึงเปรียบเสมือนเวลาพักของคุณแม่ให้ทั้งร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน
ขั้นตอนประกอบด้วยอะไรบ้าง
- เช็คประวัติ: สักถามเรื่องโรคประจำตัว ขณะตั้งครรภ์มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ เพื่อจะได้ปรับและหลีกเลี่ยงขั้นตอนที่ไม่เหมาะกับภาวะนั้น ๆ
- อาบน้ำสมุนไพร: ( 10 นาที)
- ประคบอิฐและหม้อเกลือ: ( 3 ชม.) ประคบบริเวณหน้าอกเพื่อให้น้ำนมไหลเวียน ไม่คัดเต้า บริเวณหน้าท้องช่วยให้มดลูกรักษาตัว และประคบท่าเข้าตะเกียบช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดบั้นเอว ปวดสะบักบ่า ไหล่
- ประคบสมุนไพรสด: ข้อดีของการใช้สมุนไพรสดคือมีสรรพคุณและกลิ่นหอม ช่วยลดอาการปวดเมื่อย และอาการอักเสบ
- นวดน้ำมัน: ใช้น้ำมันงาดิบสกัดเย็นบริสุทธิ์ช่วยให้ความชุ่มชื้นกับผิวคุณแม่เนื่องจากตอนท้องผิวจะแห้งมากกว่าปกติ
- เข้ากระโจม: ใช้สมุนไพรสดต้มช่วยปรับสมดุลของเลือดลม ขับของเสียทางเหงื่อ ลดอาการหนาวสะท้าน โดยสำหรับคุณแม่ที่คลอดแบบธรรมชาติจะมีขั้นตอนการนั่งถ่าน โดยใช้สมุนไพรสูตรพิเศษประกอบด้วยหญ้ารีแพร์ ใบบากผู้บากเมีย เป็นต้น วางบนอิฐร้อนเพื่อให้สมุนไพรระเหยไปกับไอร้อน ช่วยในเรื่องแผลฝีเย็บ ลดอาการตกขาว
- ขัดตัวด้วยสมุนไพร: ใช้สมุนไพรทำเองสูตรพิเศษ ถูทั้งตัวคุณแม่ช่วยผลัดเซลส์ผิว ขจัดคราบไคล ลดรอยด่างดำ
- คาดไฟชุด: ใช้ผ้าคาดเอวพร้อมกับกล่องไฟชุด ให้ความอบอุ่นที่หน้าท้อง เพื่อความผ่อนคลาย พร้อมกับขับน้ำคาวปลา
ขั้นตอนทั้งหมดอาจเปลี่ยนแปลงหรือ ตัดบางส่วนไปได้ตามอาการของคุณแม่แต่ละท่าน
การอยู่ไฟของคุณแม่ผ่าคลอด และคุณแม่คลอดธรรมชาติ ต่างกันอย่างไร
จากประสบการณ์การทำงานของพี่เอ้ จำนวนคุณแม่คลอดธรรมชาติได้ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีหลัง ตอนนี้พูดได้เลยว่าจำนวนคุณแม่ผ่าคลอดน่าจะอยู่ที่ 80% ซึ่งพี่เอ้เองอยากสนับสนุนให้มีคุณแม่คลอดธรรมชาติเยอะขึ้นเพราะจะดีต่อนำ้นมและร่างกายฟื้นเร็วกว่า
สำหรับคุณแม่ผ่าคลอดควรรอให้แผลผ่าหายดีก่อนซึ่งควรรอประมาณ 30 วันก่อนอยู่ไฟ
สำหรับคุณแม่คลอดธรรมชาติ สามารถอยู่ไฟได้เลยหลังจากคลอด 7 วัน หรือ แผลฝีเย็บหายดีแล้ว ซึ่งขั้นตอนการอยู่ไฟของคลอดธรรมชาติจะเพิ่มขั้นตอนการนั่งถ่านขึ้นมาด้วย
ระยะเวลาของการอยู่ไฟ
ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำตามสภาพของร่างกายคุณแม่และความสะดวก โดยทั่วไปควรทำอย่างน้อย 5 วัน บางคนที่มดลูกยังลอยอยู่ก็จะแนะนำให้ทำนานกว่านั้น
ข้อควรระวังในการอยู่ไฟ
ในกลุ่มของคุณแม่ที่มีอาการครรภ์เป็นพิษและความดันสูง ควรหลีกเลี่ยงหรือให้อยู่ในการดูแลของหมอผู้เชี่ยวชาญ
การอยู่ไฟให้ประโยชน์กับคุณแม่อย่างไร
ในเบื้องต้นคุณแม่จะรู้สึกถึงความแตกต่างได้เอง จะเห็นว่าหน้าท้องยุบ ก้น และสะโพกลงเร็ว ลดอาการบวม และหลังบางลงนอกจากนี้การอยู่ไฟจะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนร่างกาย ลดอาการเหวี่ยงและซึมเศร้าให้น้อยลง โดยพี่เอ้เชื่อว่าการอยู่ไฟนั้นส่งผลทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่ นอกจากร่างกายจะได้พักผ่อนและผ่อนคลายแล้ว คุณแม่จะได้มีคนปรึกษา พูดคุย และแนะนำในการดูแลตัวเอง ดูแลลูก จึงลดความตึงเครียดได้ในทางหนึ่ง
ส่วนตัวพี่เอ้เองอยากแชร์ประสบการ์ณดี ๆ ที่เคยไปอยู่ไฟให้คุณแม่ท่านหนึ่งที่มีอาการเก็บตัวไม่พูดคุยกับใคร คล้ายซึมเศร้า แต่หลังจากได้อยู่ไฟได้ซักพัก คุณแม่ก็เริ่มผ่อนคลายเพราะมีคนคุยด้วย คุณแม่ก็กลับมาหัวเราะได้ในรอบหลายเดือนทั้งที่ไม่ได้หัวเราะเลย และเหตุการณ์แบบนี้ทำให้พี่ก็ดีใจกับงานที่ทำมาก
อะไรที่ทำให้พี่เอ้รักการช่วยคุณแม่อยู่ไฟ
ทุกครั้งพี่เอ้จะมีความสุขที่ได้เห็นคุณแม่ร่างกายผ่อนคลาย และได้เพิ่มจำนวนน้ำนมให้ลูก เป็นการลดปริมาณการกินนมผงในเด็ก ๆ ไปด้วย
ส่วนใหญ่คุณแม่อยู่ไฟกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด
พี่เอ้มักจะได้ยินจากคุณแม่ท้องแรกส่วนใหญ่กังวลเรื่องกลัวนมไม่มา นมไม่พอให้ลูกดื่ม ซึ่งพี่เอ้ก็จะแนะนำให้เอาลูกเข้าเต้าให้บ่อยที่สุด จะช่วยได้ดีที่สุด
สำหรับคุณแม่ที่ไม่สะดวกอยู่ไฟ จะดูแลตัวเองหลังคลอดได้อย่างไร
ต้องพยายามให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำอุ่น ดื่มน้ำอุ่น รับประทานพวกแกงอุ่น ๆ ร้อน ๆ หรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนมาทาบหน้าท้องจะช่วยได้มาก สำหรับยาขับน้ำคาวปลาพี่ว่าเป็นแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล ดื่มได้ แต่ที่สำคัญให้มั่นใจว่าไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือสารที่คุณแม่แพ้ และต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้แพ้
หากคุณแม่สนใจรับบริการอยู่ไฟกับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Mali สามารถกรอกข้อมูลให้เราติดต่อกลับได้ที่นี่