สาเหตุที่ทำให้คุณแม่บางคนจำเป็นต้องผ่าคลอด
วันคลอด
ประมาณหนึ่งในสามของเด็กทารกที่เกิดในประเทศไทยจะคลอดโดยวิธีผ่าตัด ไม่ว่าจะด้วยความสะดวกหรือความสามารถในการกำหนดวันคลอดได้เองแล้ว ยังมีเหตุผลทางการแพทย์ต่อไปนี้ ที่ทำให้จำเป็นต้องทำคลอดด้วยวิธีผ่าตัด
สาเหตุที่ทำให้ต้องกำหนดการผ่าตัดคลอดล่วงหน้า
มีเหตุผลทางการแพทย์มากมายที่ทำให้สูติแพทย์จำเป็นต้องนัดวันผ่าตัดคลอดล่วงหน้าให้คุณแม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่และลูก
- เงื่อนไขทางการแพทย์บางอย่าง: คุณแม่อาจมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไต ซึ่งการคลอดธรรมชาติอาจเป็นอันตรายได้ การผ่าตัดคลอดจึงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า
- การติดเชื้อ: ถ้าคุณแม่ติดเชื้อ HIV หรือมีการติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ สูติแพทย์จำเป็นต้องกำหนดให้ผ่าตัดคลอดเนื่องจากเชื้อไวรัสทั้งสองสามารถแพร่เชื้อไปยังลูกได้ในขณะคลอด
- สุขภาพของลูกในครรภ์: การเจ็บป่วย หรือภาวะที่มีโรคแต่กำเนิด อาจทำให้การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเป็นไปด้วยความยากลำบาก
- ทารกตัวใหญ่: บางครั้งลูกน้อยของคุณแม่ก็อาจตัวใหญ่เกินไป (เป็นภาวะที่เรียกว่า ทารกมีขนาดตัวโตกว่าปกติ) กรณีนี้สูติแพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ผ่าตัดคลอดถ้าหากคุณแม่มีน้ำหนักที่มากเกินกว่าที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้การคลอดเป็นไปอย่างปลอดภัย
- น้ำหนักตัวของคุณแม่: การเป็นโรคอ้วนจะยิ่งเพิ่มโอกาสที่คุณแม่จะต้องคลอดโดยการผ่าตัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่มักมากับความอ้วน เช่น โรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงอ้วนมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาในการคลอดธรรมชาตินานเกินไป
- อายุของคุณแม่: การมีอายุมากไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องคลอดด้วยการผ่าตัด แต่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เพิ่มโอกาสในการผ่าตัดคลอด
- ตำแหน่งของทารกในครรภ์: เมื่อทารกอยู่ในท่าเอาเท้าลงหรือท่าก้น และไม่สามารถที่จะหมุนกลับเอาหัวลงไปสู่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่ได้ สูติแพทย์อาจตัดสินใจว่าจำเป็นต้องทำคลอดโดยการผ่าตัด
- ครรภ์แฝด: การตั้งครรภ์แฝดจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดคลอดตามจำนวนทารกที่อยู่ในครรภ์
- ปัญหาเกี่ยวกับรก: ถ้ารกส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดปิดกั้นอยู่ที่ปากมดลูก หรือแยกออกจากผนังมดลูก (รกลอกตัว) การผ่าตัดคลอดจะปลอดภัยกว่าสำหรับทั้งคุณแม่และลูก
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ: หากคุณแม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์) และการรักษาไม่ได้ผล สูติแพทย์อาจเลือกใช้การผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูก
- ได้รับการผ่าตัดคลอดในครรภ์ก่อนหน้า: หากคุณแม่เคยได้รับการผ่าตัดคลอดมาก่อนในครรภ์ก่อนหน้า จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะต้องได้รับการผ่าตัดคลอดในครรภ์ต่อ ๆ ไป แต่การคลอดธรรมชาติก็ยังสามารถทำได้ภายใต้การแนะนำของสูติแพทย์
สาเหตุที่ทำให้ต้องผ่าตัดคลอดโดยไม่ได้กำหนดล่วงหน้า
บ่อยครั้งที่ความจำเป็นของการผ่าตัดคลอดจะยังไม่ชัดเจนจนกว่าคุณแม่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการคลอด สาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่
- การคลอดไม่เริ่มขึ้น: ถ้ากระบวนการคลอดของคุณแม่ดูเหมือนจะไม่เริ่มขึ้นสักที และปากมดลูกของคุณแม่ไม่ขยายแม้ว่าจะมีการหดตัวมา 24 ชั่วโมงแล้ว สูติแพทย์อาจตัดสินใจทำการผ่าตัดคลอด
- การคลอดหยุดชะงัก: คุณแม่อาจเริ่มต้นกระบวนการคลอดอย่างราบรื่นในตอนแรก (ปากมดลูกขยายเป็น 3 ซม.) แต่ทุกอย่างกลับหยุดชะงักลง เช่น ถ้าศีรษะของทารกใหญ่เกินกว่าจะผ่านกระดูกเชิงกรานของคุณแม่ได้
- คุณแม่เหนื่อยล้า หรือทารกอยู่ในภาวะอันตราย: สูติแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าคุณแม่อยู่ในภาวะที่เหนื่อยล้าเกินไป หรือถ้าทารกในครรภ์มีสัญญาณชีพอ่อนลง
- สายสะดือตกลงไปสู่ช่องคลอด: ถ้าสายสะดือตกลงไปในช่องคลองก่อนทารกจะคลอด จะเกิดแรงดันบีบตัวเมื่อทารกผ่านเข้ามา ซึ่งอาจทำให้ขาดออกซิเจนได้
- มดลูกแตก: หากมดลูกของคุณแม่ฉีกขาด การผ่าตัดคลอดนับเป็นเรื่องที่จำเป็น
กำหนดการผ่าตัดคลอด
หากคุณแม่จำเป็นที่จะต้องกำหนดวันสำหรับการผ่าตัดคลอด ควรเลือกวันโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวคุณแม่เองและลูกเป็นอันดับแรก พยายามอย่าให้ลูกคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 39 หรือ 40 เพื่อให้เขาเกิดมาด้วยความแข็งแรงและมีสุขภาพดีที่สุด
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (16 มกราคม 2019)