ดาวน์โหลดแอป

ควบคุมน้ำตาลในไตรมาสที่ 3 เพื่อการคลอดที่ง่ายขึ้น

อาหารการกิน

ควบคุมน้ำตาลในไตรมาสที่ 3 เพื่อการคลอดที่ง่ายขึ้น

โภชนาการของคุณแม่ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์นั้นล้วนมีผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ 

เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะควบคุมการรับประทานอาหารให้เหมาะสม และดีต่อสุขภาพเพื่อให้ลูกน้อยที่กำลังพัฒนาอยู่ในครรภ์นั้นได้รับโภชนาการที่เหมาะสม และดีต่อสุขภาพตามไปด้วย การรับประทานอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาลมากเกินไปนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และน้ำหนักที่เพิ่มเกินเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 3

 การเติบโตในช่วงไตรมาสที่ 3
การตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ หรือ 3 ไตรมาส ในไตรมาสที่ 3  ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายนั้น เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ เนื่องจากทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 3 เดือนนี้ และยังมีการสร้างส่วนที่สำคัญของสมองและปอดอีกด้วย  อาหารที่คุณแม่รับประทานนั้น จะส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักของลูกน้อยในครรภ์  โภชนาการที่สมดุลและเหมาะสมจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์ สมาคมการตั้งครรภ์แห่งประเทศอเมริกาแนะนำว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักเพิ่มประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในช่วงเดือนที่ 7 และเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ น้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจลดลงเล็กน้อยในเดือนที่ 9  การรับประทานอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาลมากเกินไปนั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้

 น้ำตาลทำให้ลูกน้อยอ้วนเกินไป
เนื่องจากน้ำตาลนั้นจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ก่อนสารอาหารอื่นๆ จากนั้นก็จะถูกส่งผ่านรกไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของทารกสูงขึ้น ทำให้ทารกต้องผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่มากเกินไปเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ปริมาณน้ำตาลที่สูง และระดับฮอร์โมนอินซูลินที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกตินี้ จะทำให้ทารกตัวโตมากเกินไปหรือเรียกว่า ภาวะทารกตัวโตกว่าปกติ เมื่อทารกมีขนาดโตกว่าปกติจะส่งผลทำให้การคลอดเกิดความซับซ้อนมากขึ้น และอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพ หรือการบาดเจ็บของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในระหว่างการคลอดได้

สารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการในช่วงไตรมาสที่ 3

ปริมาณแคลอรี่: ตอนนี้คุณแม่อยู่ในไตรมาสสุดท้ายแล้ว ร่างกายจะต้องการพลังงานเพิ่ม 200 แคลอรี่ต่อวัน

โปรตีน: คุณแม่สามารถทานอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างหลากหลายได้ต่อไป เนื่องจากคุณแม่จะต้องการโปรตีนมากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ 

กรดโฟลิค: คุณแม่จะต้องการกรดโฟลิคปริมาณเท่าไตรมาสที่ 2 ดังนั้นควรกินผักใบเขียว ธัญพืชไม่ขัดสี และควรตรวจสอบฉลากของซีเรียลที่ทานเป็นมื้อเช้าเพื่อให้แน่ใจว่ามีการเติมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น

วิตามินดี: คุณแม่ควรทานวิตามินดีเสริมตลอดการตั้งครรภ์เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับวิตามินดีตามปริมาณที่ร่างกายต้องการมากขึ้นอย่างเพียงพอ ควรกินปลาที่มีไขมันสูง ไข่ และซีเรียลอาหารเช้าที่มีการเติมวิตามินเพื่อเพิ่มปริมาณวิตามินดีในร่างกาย

วิตามินซี: ในไตรมาสนี้คุณแม่จะต้องการวิตามินซีเพิ่มมากขึ้น 25% ดังนั้นควรทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเช่นส้ม หรือเกรปฟรุต ผลไม้ประเภทเบอร์รี่ เช่น สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ หรือแบล็คเคอร์เรนท์เป็นประจำทุกวัน

วิตามินเอ: คุณแม่จะต้องการวิตามินเอเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ดังนั้นควรทานผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากนมแบบไขมันต่ำให้หลากหลาย หลีกเลี่ยงการทานตับหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของตับ เพราะมีวิตามินเอสูงมาก อาจทำให้เป็นพิษต่อทารกได้ 

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (15 กุมภาพันธ์ 2019)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน