ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้แม้แต่กับคุณแม่ที่แข็งแรงที่สุด และอาจเกิดโดยไม่ทันสังเกต ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงหลายคนอาจแท้งบุตรได้โดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ก็ได้
ภาวะแทรกซ้อนอาจเกิดขึ้นได้แม้แต่กับคุณแม่ที่แข็งแรงที่สุด และอาจเกิดโดยไม่ทันสังเกต ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงหลายคนอาจแท้งบุตรได้โดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ก็ได้
ความเสี่ยงในการแท้งบุตร
การแท้งบุตรส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะช่วง 6 สัปดาห์แรกความเสี่ยงจะสูงมาก ยิ่งคุณแม่ตั้งท้องนานเท่าไรเด็กทารกก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น และทำให้ความเสี่ยงในการแท้งบุตรลดลง เมื่อคุณแม่เข้าสู่ไตรมาสที่สองความเสี่ยงในการแท้งบุตรก็จะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 100 เท่านั้น
ความเสี่ยงในการแท้งบุตรในช่วงไตรมาสแรกมีสถิติลดน้อยลงตามสัปดาห์ดังนี้:
- สัปดาห์ที่ 3, 30%
- สัปดาห์ที่ 4, 25%
- สัปดาห์ที่ 5, 19%
- สัปดาห์ที่ 6, 13.5%
- สัปดาห์ที่ 7, 8.7%
- สัปดาห์ที่ 8, 5.2%
- สัปดาห์ที่ 9, 3.5%
- สัปดาห์ที่ 10, 2.5%
- สัปดาห์ที่ 11, 2.1%
- สัปดาห์ที่ 12, 1.7%
- สัปดาห์ที่ 13, 1.3%
- สัปดาห์ที่ 14, 1%
สาเหตุของการแท้งบุตร
การแท้งบุตรส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่เหนือการควบคุมของคุณพ่อคุณแม่ โดยสาเหตุที่พบมากคือความผิดปกติในโครโมโซม เมื่อไข่และอสุจิเข้ามาผสมกัน เซลล์สองเซลล์จะผสานกันและเริ่มสร้างพันธุกรรมของตัวอ่อนขึ้น เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในกระบวนการนี้ การตั้งครรภ์ก็อาจสิ้นสุดลงเนื่องจากตัวอ่อนไม่สมบูรณ์ สาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน การติดเชื้อ เช่น เชื้อลิสทีเรีย หรืออาจเกิดจากภาวะพังผืดในโพรงมดลูก (Asherman’s syndrome)
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงในการแท้งบุตร
การแท้งบุตรอาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคนแม้แต่คนที่สุขภาพดี แต่หลายกลุ่มอาจมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์ หรือใช้ยาที่รุนแรง นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีอาการโรคเบาหวานซึ่งไม่ได้รับการรักษา และคนที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็เสี่ยงต่อการแท้งบุตรเช่นกัน
อาการของการแท้งบุตรเป็นอย่างไร
ผู้หญิงที่มีอาการแท้งบุตรอาจมีเลือดหยด มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ มีเมือกสีขาวอมชมพูออกมาทางช่องคลอด ปวดท้องหรือปวดหลังโดยเฉพาะหลังส่วนล่าง
จะป้องกันการแท้งบุตรได้อย่างไร
การแท้งบุตรส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการแท้งบุตรจะลดลงเมื่อคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อย งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์และเสพยาเสพติด การใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และแจ้งให้แพทย์ทราบว่าตั้งครรภ์
การเสียชีวิตในครรภ์ : เมื่อทารกเสียชีวิตหลังจาก 20 สัปดาห์
เมื่อทารกเสียชีวิตหลังจาก 20 สัปดาห์เป็นต้นไปจะเรียกอาการแทรกซ้อนนี้ว่า การคลอดแบบทารกเสียชีวิตในครรภ์ เมื่อทารกเสียชีวิตจะทำให้มารดาเจ็บท้องคลอดและคลอดบุตร อาการนี้เกิดขึ้นประมาณ 1 ใน 100 ของการตั้งครรภ์ทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะเกิดระหว่างการคลอด และเกิดในแหล่งที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์
สาเหตุของการเสียชีวิตในครรภ์
ทารกเสียชีวิตในครรภ์อาจเกิดจากหลายสาเหตุเช่น การคลอดก่อนกำหนดโดยร่างกายทารกยังไม่พัฒนาพอ นอกจากนี้ อาจเกิดจากความเจ็บป่วยของแม่ ภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการนี้ได้โดยไปหาคุณหมอตามนัด คอยสังเกตเรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวาน สังเกตการเตะของทารกก็จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะนี้ได้
คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้ : มีอาการเจ็บท้องคลอด อาการปวดรุนแรงบริเวณท้องหรือปวดหลัง มีเลือดไหล หรือเมื่อทารกไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (17 พฤษภาคม 2021)