เมนูสำหรับทารก: ถั่วลันเตา
ถั่วลันเตาเป็นแหล่งวิตามิน แร่ธาตุและไฟเบอร์ ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของลูก และยังช่วยทำให้ผิวหนังและดวงตาแข็งแรงอีกด้วย
เมนูแนะนำ: ซุปไก่ใส่ถั่วลันเตา
เมื่อลูกเริ่มสามารถรับประทานอาหารแข็งได้มากขึ้น และเริ่มลดการดื่มนมแม่หรือนมผง คุณก็สามารถลองให้เขากินโปรตีนได้มากขึ้นโดยทำเมนูซุปไก่และถั่วลันเตานี้
ส่วนผสม
- ถั่วลันเตา 1/2 ถ้วยตวง
- อกไก่ลอกหนัง 1 อก หั่นเป็นชิ้นลูกเต๋า
- น้ำเปล่า 3 ถ้วยตวง
วิธีทำ
- นำไก่ใส่กระทะขนาดกลาง ใส่น้ำและต้มให้เดือดด้วยไฟสูง จากนั้นลดเหลือไฟกลางแล้วปรุงอีก 5 นาที ใส่ถั่วลันเตาและรอให้ถั่วลันเตานิ่มอีกประมาณ 2 นาที
- ตักไก่และถั่วออกจากกระทะ เก็บน้ำจากกระทะเอาไว้เพื่อใช้ภายหลัง
- นำส่วนผสมใส่เครื่องปั่นอาหาร ทยอยใส่น้ำที่เก็บไว้จากกระทะปริมาณ 1/2 ถ้วยตวง ปั่นให้ส่วนผสมละเอียดเป็นเนื้อเนียน
คุณสามารถเก็บซุปไก่ใส่ถั่วลันเตาไว้ในกล่องปิดสนิทและใส่ในตู้เย็นไว้ได้ 2 วัน หรือใส่ในช่องแช่แข็งได้ 6 สัปดาห์
ทำไมถั่วลันเตาจึงดีต่อลูก?
ถั่วลันเตาอุดมไปด้วยสารอาหารจำเป็นที่สำคัญต่อพัฒนาการของทารกหลายชนิด ในถั่วลันเตามีวิตามินเอและวิตามินซีสูง ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันของลูก ถั่วลันเตายังเป็นแหล่งของธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นที่ใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ถั่วลันเตายังมีไฟเบอร์ซึ่งช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีและช่วยป้องกันท้องผูก สารอาหารทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโตโดยรวมของลูกได้อย่างดี อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับถั่วได้ที่นี่
สิ่งที่ควรรู้
การบริโภคถั่วลันเตาปริมาณมากอาจทำให้ท้องอืด ไม่สบายท้อง ซึ่งมักมาพร้อมแก๊สและการผายลม
ลูกจะเริ่มกินถั่วลันเตาได้เมื่อไร?
คุณสามารถให้ลูกเริ่มกินถั่วลันเตาได้ตั้งแต่เขาอายุ 6 เดือน อาจบดให้เละ หรือปั่นละเอียดเพื่อให้กินง่ายและย่อยง่ายมากขึ้นสำหรับทารกที่เพิ่งเริ่มกินอาหารแข็ง
เมนูถั่วลันเตา
- ถั่วลันเตาบดละเอียด: ต้มถั่วลันเตาให้นิ่มโดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที เติมนมลงไป จากนั้นปั่นด้วยเครื่องปั่นจนเนื้อเนียนละเอียด หากเปลือกถั่วทำให้เนื้ออาหารดูไม่น่ากินสำหรับลูก ให้กรองเอาเปลือกออกเพื่อให้เนื้อดูเนียนมากที่สุด คุณสามารถทำปริมาณมากกว่าหนึ่งมื้อ แล้วนำอาหารที่เหลือเข้าช่องแช่แข็งเก็บไว้ได้ ถั่วลันเตาแช่แข็งสามารถนำมาละลายและใช้ได้นาน 2 เดือน
- ถั่วลันเตาบดหยาบ: หลังจากต้มถั่วให้สุกแล้ว ใช้ส้อมบดถั่วให้เละเป็นก้อนเล็ก ๆ
- การให้อาหาร BLW: ไม่แนะนำให้ใช้ถั่วลันเตาทั้งเมล็ดหรือเป็นชิ้นใหญ่เพื่อฝึกลูกกินอาหารแบบ BLW (baby-led-weaning) เนื่องจากอาจทำให้ติดคอและเกิดอันตรายได้
ลูกควรกินปริมาณเท่าไร?
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าทารกควรเริ่มทานอาหารตั้งแต่อายุ 6 เดือน โดยให้เป็นอาหารเสริมนอกเหนือจากนมแม่หรือนมผง สำหรับช่วง 6-8 เดือนแรกที่เริ่มกินควรให้กินวันละ 2-3 มื้อ โดยสัดส่วนของแคลอรี่ที่ควรได้รับระหว่างนมแม่และอาหารแข็งควรเป็นดังนี้:
การเริ่มให้กินอาหารชนิดใหม่
พยายามให้ลูกเริ่มกินอาหารชนิดใหม่ตอนที่เขาหิว และควรให้กินครั้งละ 1 อย่างเพื่อสังเกตอาการแพ้อาหารที่อาจเกิดขึ้น เรียนรู้เกี่ยวกับการให้ลูกเริ่มกินอาหารแข็งได้ที่นี่
ข้อควรระวัง
หากคุณใช้วิธี baby-led-weaning ควรศึกษารายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับวิธีนี้อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างระหว่างอาการสำลักและอาหารติดคอ และควรรู้ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน