การพาลูกไปพบคุณหมอครั้งแรกหลังคลอด
หลังจากคลอด คุณแม่จะได้พาลูกไปพบกับคุณหมอหลายครั้ง
คุณหมอจะคอยติดตามความเป็นไปของลูกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วง 2 ขวบปีแรกของลูก เพราะเป็นช่วงที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพัฒนาการของเด็ก
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าคุณแม่ควรนัดพบคุณหมอเพื่อติดตามพัฒนาการอย่างน้อย 6 ครั้งในช่วงขวบปีแรกของลูก โดยเริ่มจากครั้งแรกเมื่อ 3-5 วันหลังคลอด จากนั้นก็เป็นการนัด 1 เดือน 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และ 12 เดือนตามลำดับ ซึ่งจะมีการให้วัคซีนด้วย คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการนัดเหล่านี้ เพราะเป็นเพียงการตรวจทั่วไปว่าลูกน้อยมีพัฒนาการตามปกติหรือไม่ ทั้งนี้ การนัดเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วย คุณหมอจึงมักมีเวลาตอบคำถามต่าง ๆ ที่คุณแม่อาจสงสัย เมื่อคุณแม่ได้พบคุณหมอครั้งแรก ก็จะคลายความกังวลและมั่นใจมากขึ้นในการพบคุณหมอครั้งต่อ ๆ ไป
เตรียมตัวอย่างไรดี?
ความจริงแล้วไม่มีเรื่องให้เตรียมตัวมากนัก เพียงทำตามแนวทางปฏิบัติที่คุณหมอและพยาบาลแนะนำหลังคลอดก็เพียงพอแล้ว เช่น การให้นม และการรักษาความสะอาดของสภาพแวดล้อม หนึ่งในการเตรียมตัวที่สำคัญคือคุณแม่อาจเขียนข้อสงสัยที่เกี่ยวกับลูก ไว้ก่อนไปพบคุณหมอ เพื่อจะได้ไม่ลืมเรื่องต่าง ๆ ในวันนัดจริง ตัวอย่างคำถามที่อาจถามมีดังนี้
- พัฒนาการของลูก เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วไป และคุณแม่จะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้เขาพัฒนาได้ดีขึ้นก่อนนัดครั้งหน้า
- ลูกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง และควรจัดตารางเวลาการนอนให้เขาอย่างไร
- คุณหมอแนะนำเรื่องโภชนาการอย่างไรบ้าง และควรให้นมแม่แก่ลูก ปริมาณเท่าไร
- ถ้าลูก มีอาการป่วย คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร
- ลูกต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง และควรฉีดเมื่อไร
ในการนัดครั้งแรกคุณหมอจะตรวจร่างกายลูกโดยทั่วไป และจะช่วยตอบคำถามต่าง ๆ ให้คุณแม่ดังต่อไปนี้ได้:
- ขนาดตัว คุณหมอจะวัดขนาดความยาวร่างกายของลูก ทุกครั้งที่นัด รวมไปถึงขนาดเส้นรอบศีรษะด้วย จากนั้นจะจดเอาไว้เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ติดตามพัฒนาการของลูกน้อย
- สอบถามพัฒนาการ และให้คำแนะนำทั่วไป คุณหมอมักจะรับฟังและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับลูก โดยหัวข้อที่มักพูดคุยกันมีตั้งแต่การให้นมแม่ การปัสสาวะ การขับถ่ายและการนอนของลูก รวมไปถึงพัฒนาการ เช่น การตอบสนองของลูก การทำเสียง การเคลื่อนไหวมือ เท้า และแขนขา การขยับหัวเมื่อนอนคว่ำ นอกจากจะรวบรวมข้อมูลจากคุณแม่แล้วคุณหมอก็จะตรวจร่างกายของลูก โดยทั่วไปเพื่อวิเคราะห์ร่างกายและการพัฒนาทางอารมณ์
- ตรวจร่างกาย คุณหมอจะตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ฟังเสียงในปอด ตรวจหู ตา ปาก ผิวหนัง ช่วงท้อง สะโพก ขา และอวัยวะเพศ
- ตรวจกะโหลกศีรษะ หัวของลูก จะยังมีจุดที่อ่อนนุ่มอยู่บริเวณกระหม่อม ซึ่งจะหายไปเองตามธรรมชาติเมื่อเขาอายุ 12 ถึง 18 เดือน รวมไปถึงการตรวจรูปร่างของศีรษะ
- แจ้งตารางการฉีดวัคซีน คุณหมอจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าถึงการนัดฉีดวัคซีนในครั้งต่อ ๆ ไป
หลังจากพบคุณหมอแล้ว
หลังจากการพบคุณหมอครั้งแรก อย่าลืมเก็บประวัติการรักษาไว้ในที่ปลอดภัย และพยายามจดข้อมูลคำแนะนำต่าง ๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อลูกน้อย รวมไปถึงคำตอบของคำถามต่าง ๆ ที่คุณแม่สงสัย เพื่อจะได้จำได้ในภายหลัง
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)