การฟื้นฟูหลังผ่าคลอด: วิธีดูแลแผลผ่าคลอดและรอยแผลเป็น

บทความนี้รวบรวมทุกเรื่องที่คุณแม่ควรรู้เพื่อให้แผลผ่าคลอดหายไว และลดรอยแผลเป็นให้น้อยที่สุด
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คุณแม่ต้องผ่าคลอด ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ การผ่าคลอดจะต้องผ่าหน้าท้องเข้าไปถึงมดลูก และแผลนี้จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู
แผลผ่าคลอดส่วนใหญ่จะฟื้นฟูได้อย่างดี และสุดท้ายจะเหลือเพียงเส้นบาง ๆ เหนือบริเวณแนวขนอวัยวะเพศเท่านั้น
ประเภทของแผลผ่าคลอด
ในการผ่าคลอด แพทย์จะผ่าบริเวณหน้าท้อง และผ่าอีกครั้งบริเวณมดลูก สำหรับบริเวณหน้าท้องแพทย์อาจผ่าหนึ่งในสองแบบต่อไปนี้
- การผ่าคลอดแนวนอน แพทย์จะผ่าเป็นแนวนอนเหนือบริเวณแนวขนอวัยวะเพศ ทั้งแพทย์และคุณแม่มักชอบวิธีนี้ เนื่องจากมีความเจ็บปวดน้อยกว่า และสังเกตเห็นได้ยากเมื่อแผลหายดีแล้ว ในการผ่าคลอดแนวนอนแพทย์จะผ่ามดลูกในแนวนอนเช่นกัน และจะผ่าที่ระดับต่ำ ซึ่งแผลลักษณะนี้จะมีโอกาสปริเปิดได้ยากหากคลอดครั้งต่อไป ดังนั้นในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไปคุณแม่สามารถพยายามคลอดแบบธรรมชาติได้ โดยการผ่าตัดแผลที่มดลูกเป็นแบบอื่นจะไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้
- การผ่าคลอดแนวตั้ง แพทย์จะผ่าแนวตั้งโดยผ่าจากกลางหน้าท้องบริเวณสะดือไปจนถึงด้านบนแนวขนอวัยวะเพศ การผ่าคลอดแบบนี้ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเนื่องจากแผลผ่าคลอดบริเวณหน้าท้องมีความเจ็บปวดมาก ใช้เวลานานในการรักษา และจะทิ้งรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัด
การปิดแผล
หลังจากนำทารกออกมาแล้วแพทย์จะเย็บปิดมดลูกโดยใช้ไหมละลาย และเย็บปิดผิวหนังหน้าท้องโดยใช้หนึ่งในสามวิธีต่อไปนี้
- ใช้แม็กเย็บแผล วิธีนี้รวดเร็วแต่มีโอกาสล้มเหลวสูง โดยแพทย์จะเอาแม็กเย็บออกประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังการผ่าตัด
- ใช้ไหมเย็บแผล วิธีนี้ใช้เวลามากขึ้นแต่โอกาสล้มเหลวต่ำ
- ใช้กาวสำหรับผ่าตัด แพทย์ผ่าตัดจะทากาวบนบริเวณแผลเพื่อป้องกัน ซึ่งกาวจะลอกออกเมื่อแผลหายดีแล้ว วิธีนี้จะเหลือรอยแผลเป็นน้อยที่สุด แต่อาจใช้ไม่ได้ผลดีกับผิวหนังทุกแบบ
วิธีดูแลแผลผ่าคลอด
ในการดูแลแผลผ่าคลอด ควรปฏิบัติดังนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อและปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมา
- ล้างแผลด้วยน้ำสบู่ทุกวันและซับให้แห้งด้วยผ้าขนหนู
- ให้แผลได้สัมผัสอากาศให้มากที่สุด
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ
- ไม่ควรออกกำลังกาย แต่ให้พยายามเดินไปมา
- ไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อแพทย์จะได้สังเกตอาการและเห็นปัญหาต่าง ๆ ได้แต่เนิ่น ๆ
- อาจใช้ประคบร้อนบริเวณแผลได้โดยเว้นระยะห่าง 15 นาที
- ทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง
สิ่งที่ควรระวัง
ในขณะที่ดูแลแผลผ่าตัด ให้คอยสังเกตอาการที่บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อหรือมีปัญหาอื่น ๆ โดยสังเกตอาการเหล่าน้ี
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (100.4 ฟาเรนไฮต์)
- มีหนองไหลออกจากแผล
- ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น แผลบวมแดง
- รู้สึกชาเป็นเวลานาน
- เจ็บปวดแปลบที่เชิงกรานและร้าวไปที่ขาทั้งสองข้าง
เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
ความเสี่ยงที่แผลจะเปิดออก
ในบางกรณีที่พบได้ยาก แผลผ่าคลอดอาจเปิดออกได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง ซึ่งแพทย์เรียกว่าแผลผ่าคลอดแยก สาเหตุที่อาจทำให้มีความเสี่ยงแผลเปิดมีดังนี้
- การผ่าคลอดแนวตั้ง
- การเย็บแผลโดยใช้แม็กเย็บแผล
- มีการเกร็ง หรือมีแรงกดดันที่แผล
- เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
- ภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง
- การฟื้นฟูไม่ดีพอ
- การติดเชื้อ
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการอย่างหนึ่งในต่อไปนี้
- ปวดบริเวณหน้าท้องอย่างรุนแรง
- มีเลือดไหลจากอวัยวะเพศปริมาณมากและมีลิ่มเลือด
- มีเลือดไหลจากแผลผ่าตัด
- มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลจากอวัยวะเพศ
- แผลผ่าตัดบวมหรือมีสีแดงขึ้น
- มีกลิ่นเหม็นจากบริเวณแผลผ่าตัด
- มีของเหลว หรือหนองไหลจากแผลผ่าตัด
- แผลผ่าตัดบวม หรือเป็นก้อนแข็ง
- หน้าท้องส่วนล่างบวม หรือคลำพบก้อน
- ปัสสาวะแล้วรู้สึกเจ็บปวด
- อุจจาระแล้วรู้สึกเจ็บปวด
- ท้องผูกอย่างรุนแรง หรือไม่สามารถถ่ายได้
- มีไข้มากกว่า 37.78 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์)
- มึนหัว
- ความดันเลือดต่ำ
การลดรอยแผลเป็น
สำหรับคุณแม่บางคน แผลผ่าคลอดอาจฟื้นฟูโดยมีแผลเป็นเป็นเส้นหยักและหนา หากเป็นแบบนี้แพทย์มักแนะนำดังนี้
- นวดบริเวณแผลเป็น: การนวดที่แผลเป็นบ่อย ๆ หลังจากแผลหายแล้วจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังแผล ซึ่งจะช่วยให้แผลเป็นจางลงได้ คุณแม่อาจใช้วิตามินอี หรือซิลิโคนเจลทา จากนั้นใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางนวดคลึงเป็นวงกลมวันละ 5 ถึง 10 นาที
- เจลซิลิโคน หรือแผ่นซิลิโคน: งานวิจัยพบว่าซิลิโคนสามารถช่วยให้แผลเป็นนุ่มและเรียบลง และยังช่วยลดความเจ็บปวดได้
- รักษาด้วยเลเซอร์: การใช้เลเซอร์จะช่วยให้แผลนุ่มลง ทำให้รอยจางลง และทำให้รอยแผลเรียบลงได้
- การฉีดเสตียรอยด์บริเวณแผลเป็น: วิธีนี้จะช่วยลดอาการบวม ลดความเจ็บปวดและช่วยให้แผลจางลงได้
ศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขรอยแผลเป็น: หากแผลเป็นมีขนาดใหญ่มาก แพทย์อาจเสนอให้ทำศัลยกรรมรอยแผลเป็น โดยการผ่าเปิดแผลออกมาเพื่อตัดเนื้อส่วนที่เสียหายออก ซึ่งจะช่วยให้แผลดูจางลง จากนั้นก็ปิดแผลเพื่อให้ดูกลมกลืนกับผิวหนังรอบ ๆ
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (1 กรกฎาคม 2022)