ปกป้องลูกน้อยจากอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการปรุงอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายของลูกน้อยได้
อาหารบางชนิดเช่น น้ำผึ้ง นั้นไม่มีวันหมดอายุ แต่อาหารชนิดอื่น ๆ มีโอกาสทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารได้ทั้งสิ้น
ทำไมเด็กเล็กจึงมีความเสี่ยงมากกว่า?
โรคอาหารเป็นพิษเกิดขึ้นเมื่อมีการรับเชื้อจุลินทรีย์เช่น ไวรัส หรือแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารที่ไม่สะอาด จากนั้นเชื้อจุลินทรีย์จะจู่โจมร่างกายโดยการปล่อยสารที่เป็นพิษต่อร่างกายออกมา เด็กเล็กมีโอกาสเจ็บป่วยจากอาหารได้ง่ายกว่า เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็ก ๆ ยังมีกรดที่ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ในร่างกายไม่มากนัก
อาการของอาหารเป็นพิษ
เด็ก ๆ ที่ได้ทานอาหารปนเปื้อนเข้าไปมักจะมีอาการต่อไปนี้
- คลื่นไส้
- มีไข้
- อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
เชื้อจุลินทรีย์ที่มักทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ
- คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นแบคทีเรียที่อาจอยู่ในอาหารกระป๋อง และน้ำผลไม้ที่มีปริมาณกรดน้อยและไม่ได้แช่ตู้เย็น เช่น น้ำแครอท เชื้อนี้เป็นสาเหตุของโรคโบทูลิซึม ซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่พบได้ยาก
- อีโคไล (E.coli bacteria) พบในเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ผักผลไม้ที่ปนเปื้อน น้ำแอปเปิ้ลที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ และน้ำนมดิบ
- ลิสทีเรีย (Listeria spp.) พบในไส้กรอก ชีสดิบ หรือชีสที่ยังไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ รวมไปถึงปลา และอาหารทะเลรมควันแช่เย็น
- แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter spp.) พบในเนื้อวัวหรือเนื้อไก่ที่ยังไม่สุก หรือสุกไม่ทั่วถึง ผักดิบ และน้ำนมดิบ
- ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A virus) พบในน้ำที่ปนเปื้อน อาหารทะเลมีเปลือกที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือสุกไม่ทั่วถึง และผักผลไม้ดิบ
- ซัลโมเนลลา (Salmonella spp) พบในเนื้อไก่ดิบ หรือเนื้อที่ปรุงสุกไม่ทั่วถึง ไข่ดิบหรือไข่ที่ปรุงสุกไม่ทั่วถึง และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์
เทคนิคในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
- ล้างมือบ่อย ๆ ล้างมือทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร และหลังจากสัมผัสเนื้อไก่ดิบ ปลาดิบ อาหารทะเลมีเปลือกดิบ ผักดิบ และไข่
- ดูให้แน่ใจว่าพื้นผิวต่าง ๆ สะอาด รวมไปถึงกันสัตว์เลี้ยงให้อยู่ห่างจากบริเวณที่เตรียมอาหาร และพื้นผิวที่สัมผัสอาหาร
- ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง และรอสักพักให้อาหารเย็นลงก่อนจะให้ลูกทาน
- อย่าให้ลูกกินอาหารขณะกำลังนั่งกระโถน
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกทานปูหรือหอยดิบ หรือปรุงสุกไม่ทั่วถึง ควรให้เด็กทารกและเด็กเล็กทานปูหรือหอยที่ปรุงสุกเท่านั้น
- ล้างผักผลไม้และปอกเปลือกให้หมด เช่นแครอท และแอปเปิ้ล
- อย่านำอาหารที่ลูกทานไม่หมดมาให้ลูกทานใหม่
- หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนโดยเก็บเนื้อสัตว์ดิบให้ห่างจากผลไม้ และอาหารพร้อมทานอื่น ๆ รวมไปถึงทำความสะอาดช้อนส้อมและอุปกรณ์ปรุงอาหารทั้งหมด รวมถึงเทอร์โมมิเตอร์ที่สัมผัสกับอาหารดิบด้วย
- อย่าใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหารที่สงสัยว่าอาจเน่าเสียแล้ว เนื่องจากไมโครเวฟไม่สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้
เก็บอาหารร้อนให้ร้อน และเก็บอาหารเย็นให้เย็น
หากยังไม่ทานทันที ควรเก็บอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ให้คงความร้อน (มากกว่า 60 เซลเซียส หรือ 140 ฟาเรนไฮต์) โดยอาจใช้เตาอุ่นอาหาร และควรเก็บอาหารที่ต้องแช่เย็นไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า -4 เซลเซียส หากปล่อยไว้ให้หายเย็นอาจทำให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ ดังนั้นหากต้องเดินทางพร้อมอาหารแบบเย็น ควรนำใส่กระติกพร้อมน้ำแข็ง หรือใช้เจลเก็บความเย็น
เมื่อไรที่ควรทิ้งอาหาร
แนะนำให้ทิ้งอาหารในกรณีต่อไปนี้
- หากอาหารดูเน่าเสีย มีกลิ่น หรือรสชาติเปลี่ยนไป
- ไม่แน่ใจว่าปลอดภัยที่จะทานหรือไม่
- อาหารที่หมดอายุ
- อาหารกระป๋องที่บวม บุบ หรือมีรอยรั่ว