จัดเตียงของคุณแม่ให้ปลอดภัยสำหรับลูก
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็จะนอนร่วมเตียงเดียวกันกับลูกน้อย ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งเสียงที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในมุมมองของวิวัฒนาการแล้ว การนอนร่วมเตียงถือเป็นวิธีธรรมชาติที่สุดที่จะช่วยให้ลูกนอนหลับได้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังในบางเรื่อง
เหตุผลที่พ่อแม่บางคนเลือกนอนร่วมเตียงกับลูกน้อย
พ่อแม่มักเลือกให้ลูกน้อยนอนร่วมเตียงด้วย เพราะมีประโยชน์ดังนี้
- สะดวกมากขึ้นในการให้นมลูกในช่วงกลางคืน
- ช่วยให้รู้สึกใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น และการใกล้ชิดก็ปลอดภัยกว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
- ช่วยให้คุณแม่ใหม่ได้ปรับเวลาการนอนให้เข้ากับการนอนของลูก
- ช่วยให้ลูกน้อยกลับมานอนหลับได้ง่ายขึ้นเมื่อเขาตื่นกลางดึก
- ให้ความรู้สึกอบอุ่น
อันตรายของการนอนร่วมเตียงกับลูกน้อย
ถึงแม้ว่าความเชื่อบางอย่างก็กล่าวว่าเป็นผลดี และงานวิจัยหลายชิ้นก็สนับสนุนแนวคิดนี้ แต่การนอนร่วมเตียงกับลูกก็ยังมีความเสี่ยงหลายอย่าง หากทำไม่ถูกต้องก็สามารถทำให้เด็กเป็นโรคไหลตาย หรือ Sudden Infant Death Syndrome(SIDS) ได้ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กทารกอายุไม่ถึง 4 เดือนและเด็กที่พ่อแม่ดื่มแอลกอฮอลล์หรือเสพยาก่อนเข้านอน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคไหลตายมากกว่าปกติ กรณีเหล่านี้จะดีกว่าหากให้ลูกน้อยนอนในที่นอนเด็กข้างเตียงพ่อแม่
วิธีดูให้แน่ใจว่าลูกน้อยปลอดภัยเมื่อนอนเตียงร่วมกัน
หากคุณแม่ต้องการนอนร่วมเตียงกับลูก ควรจัดที่นอนให้ปลอดภัยสำหรับเขา โดยทำดังนี้
- หลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงหรือเด็กคนอื่น ๆ นอนร่วมเตียงด้วย
- ไม่ควรวางเด็กทารกบนพื้นผิวที่นุ่ม เช่น เบาะนุ่ม โซฟา หรือเตียงน้ำ
- ให้ลูกนอนหงายเพื่อลดความเสี่ยงโรคไหลตาย
- ดูให้แน่ใจว่าลูกจะไม่ตกเตียงหรือตกไปอยู่ในช่องว่างระหว่างฟูก
- วางผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม และหมอนให้ห่างจากตัวลูก รวมถึงข้าวของชิ้นอื่น ๆ ที่อาจขวางทางเดินหายใจ ทำให้ลูกหายใจไม่ออกได้
- อย่าใช้ผ้าคลุมหัวลูกเมื่อลูกนอน
- อย่าเผลอหลับเมื่อลูกอยู่บนหน้าอก
- ดูให้แน่ใจว่าฟูกที่นอนเข้ากับโครงเตียงอย่างดีและไม่มีช่องว่างที่หัวเด็กจะตกลงไปได้
เมื่อไรจึงไม่ควรนอนร่วมเตียงกับลูก
ในบางสถานการณ์ การนอนร่วมเตียงกับลูกก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก อย่างเช่นกรณีด้านล่างนี้
- ลูกน้อยคลอดก่อนกำหนดก่อนสัปดาห์ที่ 38
- ลูกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อแรกเกิด โดยน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม
- ลูกน้อยมีอายุต่ำกว่า 4 เดือน ควรนอนที่เตียงเด็กข้างเตียงคุณแม่จะเหมาะกว่า
- เมื่อคุณแม่หรือคุณพ่อมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้สูบในห้องนอนก็ตาม
- เมื่อคุณแม่หรือคุณพ่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ หรือกินยาที่ทำให้ง่วงนอน
- เมื่อคุณแม่อยู่ในช่วงที่เหนื่อยมาก ๆ หรือรู้สึกไม่สบาย
- ไม่ควรนอนที่โซฟา เก้าอี้เอนหลัง หรือเก้าอี้โยกกับลูกน้อย การนอนกับลูกบนโซฟาหรือเก้าอี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไหลตายมากขึ้นถึง 50 เท่า
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)