การสร้างต้นแบบทางพฤติกรรม
โดยปกติแล้วเด็ก ๆ จะพยายามลอกเลียนแบบสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำ เรียกว่าเป็นการสร้างต้นแบบทางพฤติกรรม เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มักจะเรียนรู้จากการดูและพยายามเลียนแบบสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ บางครั้งคนที่เป็นต้นแบบไม่จำเป็นต้องเป็นคนรอบข้างก็ได้ เช่น ต้นแบบอาจเป็นเพื่อน ครู หรือแม้แต่ตัวละครในภาพยนตร์
การสร้างต้นแบบทางพฤติกรรมคืออะไร
การสร้างต้นแบบทางพฤติกรรมเป็นกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติโดยที่เด็กมีการสังเกตพฤติกรรมของอีกคนหนึ่งแล้วเลียนแบบ บางครั้งเรียกว่าการเรียนรู้เชิงสังเกตหรือการเรียนรู้ทางสังคม รูปแบบการเรียนรู้นี้ไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งโดยตรง และโดยส่วนใหญ่แล้วตัวต้นแบบจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีคนกำลังเรียนรู้จากพวกเขา
การสร้างต้นแบบทางพฤติกรรมมี 4 ขั้นตอนดังนี้:
- ความสนใจ: ลูกกำลังสังเกตสิ่งที่คุณกำลังทำ
- การจดจำ: เด็ก ๆ จะทำความเข้าใจและจดจำพฤติกรรมของคุณได้
- การเลียนแบบ: ลูกจะพยายามทำซ้ำสิ่งที่พวกเขาจดจำมา
- แรงจูงใจ: นี่คือสิ่งที่กระตุ้นให้ลูกเลียนแบบการกระทำ ยิ่งเขามองไปที่ตัวต้นแบบมากเท่าไหร่ แรงจูงใจก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น (และนั่นคือสาเหตุที่เด็ก ๆ เลียนแบบเด็กวัยเดียวกัน หรือดาราวัยรุ่น)
พฤติกรรมใดที่มาจากเด็กคนอื่นเป็นต้นแบบ
เด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างต้นแบบทางพฤติกรรมเมื่อได้รับการกระตุ้นบางอย่าง ตัวอย่างเช่น หากลูกเห็นเด็กคนอื่นกระโดดลงบันไดและได้รับคำชมเชย พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะลอกเลียนแบบพฤติกรรมนี้ แต่ถ้าเด็กคนนั้นถูกดุ หรือไม่ได้รับการสนใจจากการกระโดดลงไป ก็มีโอกาสน้อยที่เด็กคนอื่นจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมนั้น
แม้ว่าพวกเขาจะเรียนรู้จากคุณและเด็กคนอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ แต่เด็ก ๆ ก็สามารถเรียนรู้จากวิดีโอ YouTube และตัวละครในภาพยนตร์ได้เช่นกัน ดังนั้นเด็ก ๆ จึงควรดูแต่รายการที่เหมาะสมกับวัย รายการทีวีมักมีการส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่ดีและก้าวร้าว ซึ่งหมายความว่าลูกอาจมีแนวโน้มที่จะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น
เคล็ดลับในการใช้ต้นแบบเพื่อสอนพฤติกรรมเชิงบวก:
- เป็นแบบอย่างที่ดี: คุณคือแบบอย่างที่ดีและสำคัญที่สุดของลูกน้อยของคุณ เขามักจะสังเกตและเรียนรู้จากคุณทุกวัน แม้ว่าคุณจะไม่รู้ตัวก็ตาม ดังนั้นควรแน่ใจว่าคุณได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้สอนให้เขา ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการกระทำของคุณแสดงให้พวกเขาเห็นถึงความรักและความเมตตา เป็นต้นแบบเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่น สอนวิธีการโต้ตอบเชิงบวกกับคนอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขา หากคุณต้องการให้ลูกพูดเบา ๆ ก็ควรพูดเบา ๆ กับเขา ถ้าอยากให้ลูกกินผักคุณก็ควรกินผักด้วย
- ชี้ให้เห็นถึงผลดี: ส่งเสริมและให้ความสนใจต่อพฤติกรรมเชิงบวก ดังนั้นคุณต้องคอยสังเกตพฤติกรรมเชิงบวกในตัวลูกและคนรอบข้าง และยกย่องพฤติกรรมเชิงบวกนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือพูดถึงสิ่งดี ๆ ที่คุณเห็นผู้อื่นทำ
- คำนึงถึงสภาพแวดล้อมของลูก: สร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสถานการณ์เชิงบวกให้ลูกน้อยเท่าที่ทำได้ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่อยู่ในที่ที่มีผู้คนหรือกิจกรรมที่แสดงพฤติกรรมเชิงลบ หากคุณพบว่าตัวเองอยู่ในสถานที่ดังกล่าวให้พาเขาออกไป
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพฤติกรรมเชิงลบ: ให้ลูกอยู่ห่างจากรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบได้ใช้เวลากับหน้าจอเลย เด็กโตสามารถดูร่วมกับผู้ใหญ่ได้วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมงเท่านั้น พยายามจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกกับเด็กหรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่เป็นต้นแบบเชิงลบ แต่ควรสร้างต้นแบบที่ดีให้กับลูกแทน
- หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้อธิบายให้ลูกฟัง: พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นต้นแบบเชิงลบเสมอ แต่ถ้าลูกจำเป็นต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้โอกาสนั้นสอนพวกเขา พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมนั้น และบอกถึงที่ยอมรับได้และเป็นประโยชน์ให้ลูกเข้าใจ และอธิบายว่าทำไมพฤติกรรมเชิงลบจึงไม่เป็นที่ยอมรับ เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้จากการฟังเช่นกัน
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)