ทำอย่างไรเมื่อลูกอยากให้อุ้มตลอดเวลา?
การได้อุ้มเด็กทารกตัวน้อย หรือเด็กเล็ก ๆ มักทำให้รู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก นอกจากคนอุ้มจะมีความสุขแล้ว การกอดและอุ้มนั้นยังมีประโยชน์ต่อลูกมากทีเดียว
ความจริง 5 ประการเกี่ยวกับการอุ้มเด็ก
ถึงแม้การอุ้มจะมีประโยชน์หลายอย่าง แต่ก็มีผลเสียด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปแล้วการอุ้มลูกจะทำให้เกิดผลดังนี้
- ช่วยในการพัฒนาทางอารมณ์ของลูก เพราะจะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย
- ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ และการหายใจของลูกเป็นปกติ
- ช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างคุณกับลูก ทำให้เกิดความผูกพันที่มั่นคง
- อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยพอควร ดังนั้นการแบ่งหน้าที่กันทำงานในกลุ่มผู้ดูแลเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ
- เมื่อเวลาผ่านไป ลูกจะแสดงความต้องการทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น การอุ้มลูกมากเกินไปอาจทำให้เขาพลาดโอกาสในการเรียนรู้การเคลื่อนไหวอื่น ๆ เช่น การคลาน การนั่ง หรือการเดิน
ทำไมเด็กบางคนจึงอยากให้อุ้มตลอดเวลา
บางช่วงเวลาเด็กก็อยากให้อุ้มตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เหนื่อยอย่างสาหัส โดยเฉพาะเมื่อคุณแม่ต้องไปทำงานที่สำคัญอื่น ๆ สาเหตุที่ลูกอยากให้อุ้มมีดังนี้
- ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านมาโลกใหม่ ลูกอาจรู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรงเกินรับไหวเมื่อเขาต้องย้ายจากมดลูกออกมาสู่โลกภายนอก หลังจากใช้เวลา 9 เดือนอยู่ในท้องแม่ เมื่อออกมาแล้วการสัมผัสจากแม่จะลดลงอย่างมาก จึงเป็นธรรมดาที่ลูกน้อยจะโหยหาความอบอุ่นที่เคยได้รับจากแม่ และอยากให้กอดตลอดเวลา
- ความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากแม่ เมื่อลูกอายุประมาณ 9 เดือน เขาจะเริ่มรู้ตัวว่าเขาแยกจากแม่โดยสมบูรณ์ และในเวลาที่เขาไม่โดนอุ้มเขาก็อาจรู้สึกวิตกกังวล
- ความอบอุ่น เด็กทารกที่เกิดใหม่มักโหยหาความอบอุ่น จึงมักอยากให้อุ้มตลอดเวลา และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมจึงต้องใช้ผ้าห่อตัวเด็กทารก
วิธีช่วยให้ลูกปรับตัว
มีหลายวิธีที่คุณแม่จะช่วยให้ลูกปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ดังเช่นไอเดียด้านล่างนี้:
- ห่อตัวลูกด้วยผ้า ห่อตัวลูกให้แน่นหนา แต่ไม่รัดจนเกินไปด้วยผ้าห่มหรือผ้าชนิดอื่น ๆ วิธีนี้จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่น ซึ่งเด็กทารกมักจะโหยหา
- ทำให้เขาสบายใจ คุณพ่อคุณแม่บางคนคิดว่าการให้ความสนใจลูกมากเกินไปจะทำให้เขากลายเป็นคนติดพ่อแม่ แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้บอกอย่างนั้น จริง ๆ แล้วการทำให้ลูกสบายใจโดยการสัมผัส การลูบหัว หรือพูดกับลูกด้วยเสียงที่ทำให้เขาผ่อนคลายนั้นจะช่วยให้เขามีความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ปลอดภัยกับคุณแม่ และทำให้เขาเป็นคนพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต
- ใช้หมอนนุ่ม ๆ ใช้หมอนนุ่มที่ออกแบบมาสำหรับทารกโดยเฉพาะ เพื่อให้ลูกรู้สึกอุ่นสบายเหมือนอยู่ในท้องแม่
- ให้คนอื่นช่วย ลองอนุญาตให้คนในครอบครัวและเพื่อน ๆ ช่วยพาลูกน้อยเข้านอน การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกพึ่งพาคุณแม่น้อยลงได้ อย่างที่สุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อเลี้ยงเด็กให้เติบโต”
- เปิดเพลงที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เสียงดนตรีหรือเสียง white noise สามารถช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลายได้ จริง ๆ แล้วสภาวะในท้องแม่นั้นไม่ได้เงียบสนิท แต่มีเสียงอยู่ตลอดเวลา โดยเสียงอวัยวะต่าง ๆ ของคุณแม่ที่ลูกได้ยินตลอดช่วงเวลานั้นมีความดังประมาณ 70 เดซิเบล
- กระตุ้นให้ลูกเคลื่อนไหว นอนข้างลูกและตบหลังเขาเบา ๆ อาจให้เขานอนในเปลแล้วแกว่งไปมา หรือพาเขานั่งรถวนรอบละแวกบ้านโดยใช้คาร์ซีท การให้ลูกเคลื่อนไหวจะช่วยจำลองสภาวะการเคลื่อนไหวที่เขาเคยชินเมื่ออยู่ในท้องแม่ ถึงแม้จะไม่เหมือนเป๊ะ แต่ตอนนั้นเขาก็ไม่ได้อยู่นิ่งเช่นกัน
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)