การปั๊มนม
น้ำนมแม่มีคุณค่าและมีประโยชน์สูงต่อลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่การเลือกวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้เขาได้รับนมแม่อย่างเพียงพอนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคุณแม่แต่ละคน
การปั๊มนมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่คุณแม่เลือกเพื่อทดแทนการให้นมจากเต้า ดังนั้นหน้าที่ของคุณแม่คือการปรับสมดุลระหว่างการปั๊มนมและการให้ลูกดูดนมจากเต้าเพื่อผลลัพท์ที่ดีที่สุดกับลูก
เหตุผลสำหรับการปั๊มนม
ในหลาย ๆ เวลาคุณแม่ไม่สามารถให้นมจากเต้าได้ทันทีทุกครั้งตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัญหาตารางเวลา การงาน โรคประจำตัวหรืออาการต่าง ๆ ที่คุณแม่หรือลูกมีอยู่
ตัวอย่างต่อไปนี้คือเหตุผลที่คุณแม่หลาย ๆ คนเลือกที่จะปั๊มนมเป็นหลัก
- เพื่อที่จะเตรียมน้ำนมแม่ให้คนในครอบครัวหรือคนดูแลป้อนนมได้ ในตอนที่คุณแม่กำลังยุ่งหรือไปทำงาน
- ลูกมีปัญหาเรื่องการดูดนมจากเต้า
- อยากจะเพิ่มปริมาณน้ำนมให้มากขึ้น ต้องการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า หรือช่วยเรื่องปัญหาเต้านมคัด
ควรปั๊มนมบ่อยเท่าใด
หลักการปั๊มนมนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมของคุณแม่และความต้องการของลูกถ้าเขามีความต้องการนมแม่มาก ร่างกายของคุณแม่ก็จะปรับให้มีการผลิตน้ำนมที่มากขึ้นตามไปด้วย กล่าวได้ว่าคุณแม่สามารถจัดความถี่ของรอบการปั๊มนมและระยะเวลาปั๊มต่อรอบได้จากปริมาณการดูดนมจากเต้าของลูกในแต่ละครั้ง
โดยปกติแล้วทารกต้องการนมประมาณ 25 – 35 ออนซ์ (740 – 1,000 มิลลิลิตร) ต่อวันโดยแบ่งเป็นหลาย ๆ มื้อ คุณแม่สามารถเลือกที่จะปั๊มนมในเวลากลางวันทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงโดยใช้เวลาปั๊มข้างละ 15 นาที และอีก 2 รอบในเวลากลางคืน เผื่อน้ำนมน้อยลงในวันต่อมา
ทั้งนี้คุณแม่อาจต้องใช้เวลาซักพักเพื่อที่จะพบวิธีการปั๊มนมที่เหมาะสม
ถ้าคุณแม่ให้ลูกดูดนมจากเต้าเป็นหลัก
- แนะนำให้คุณแม่ปั๊มนมในตอนเช้าเพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตน้ำนมมากที่สุด
- ปั๊มนมก่อนหรือหลังจากที่ให้ลูกดูดนม 1 ชั่วโมงเพื่อสำรองนมไว้ให้เขาในกรณีที่น้ำนมมีน้อย
ถ้าคุณแม่ปั๊มนมเป็นหลัก
- ตั้งเป้าหมายการปั๊มนมไว้ที่ 8 – 10 รอบต่อวัน
- ระยะเวลาปั๊มต่อรอบ ให้ปั๊มจนกว่าจะได้น้ำนมปริมาณ 3 – 6 ออนซ์ (90 – 150 มิลลิลิตร) หากปริมาณน้ำนมคงที่แล้วคุณแม่สามารถปรับความถี่ของรอบต่อวันได้ตามเหมาะสมเพื่อให้มีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกอยู่ที่ประมาณ 25 – 35 ออนซ์ (740 – 1,000 มิลลิลิตร) ต่อวัน
หากคุณแม่พบว่าตัวเองไม่สามารถปั๊มนมได้มากพอ คุณแม่ไม่ต้องกดดันตัวเอง เพราะแม่และลูกแต่ละคู่ต่างกัน เช่นเดียวกับจำนวนน้ำนมในแต่ละวันหรือแต่ละอาทิตย์ก็ต่างกัน
จำไว้ว่าอาหารการกินและอารมณ์ของคุณแม่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณน้ำนม ถ้าคุณแม่ยังพบปัญหาน้ำนมลดลงอย่างต่อเนื่องคุณแม่สามารถปั๊มนมให้บ่อยขึ้นเพื่อกระตุ้นน้ำนมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่