การเรียกแม่
ประสบการณ์จากคุณแม่หลาย ๆ คนบอกว่าหนึ่งในคำพูดแรกยอดนิยมของลูกคือคำว่า แม่หรือมาม้า
ทำไมถึงเป็นคำนี้
ก่อนอื่นคุณแม่ต้องทำความเข้าใจรูปแบบการสื่อสารของลูกก่อน
- เด็กแรกเกิดใช้การร้องไห้ในการสื่อสารเพื่อแสดงความต้องการต่าง ๆ และจดจำเสียงของคุณแม่
- พอเข้าวัย 1 – 4 เดือน จะเริ่มยิ้ม หัวเราะ และออกเสียงสระ อู อา (coos) ในระหว่างนั้น ลูกจะจดจำคำต่าง ๆ ที่ได้ยิน โดยเฉพาะคำที่คุณแม่พูดบ่อย ๆ ตอนคุยกับเขา เช่น ชื่อของตัวเอง ชื่อที่พ่อแม่ใช้แทนตัวเอง หรือของใกล้ตัว
- อายุ 5 – 7 เดือน ลูกเริ่มออกเสียงเป็นคำ 1 พยางค์ครั้งแรก
- อายุ 8 – 10 เดือน ลูกจะเปล่งเสียงออกมาเป็นคำซ้ำๆ (babbles) โดยที่ไม่รู้ความหมาย คำคำนั้นมักจะเป็นคำที่ออกเสียงง่ายและเป็นคำที่ ลูกได้ยินจากคุณแม่บ่อย ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่คำว่า มาม่า ที่หมายถึงแม่ กลายมาเป็นคำพูดแรกที่คุณแม่ส่วนใหญ่ได้ยิน สำหรับคนไทย คำว่า พ่อ มักได้ยินในภายหลัง เพราะพ่อเป็นคำที่เปล่งเสียงยากกว่า ดังนั้นถ้าบ้านไหนอยากให้ลูกเรียกพ่อกับแม่ได้พร้อม ๆ กัน คุณพ่ออาจต้องเรียกแทนตัวเองว่า แดด (ดาด้า) แบบภาษาอังกฤษก็ได้
- อายุ 12 เดือน จะเริ่มเข้าใจความหมายของคำเพื่อใช้ในการสื่อสารสิ่งต่าง ๆ รอบตัว คุณแม่อาจจะเห็นลูกทำมือประกอบท่าทางไปด้วย เช่น การชี้ของเล่น หรือการยกมือให้เราอุ้ม และที่สำคัญ เมื่อลูกพูดคำว่า แม่ หรือ มาม่า จะหมายความว่า เขาเรียกหาคุณแม่จริง ๆ
คุณแม่จะช่วยลูกพัฒนาทักษะการพูดได้อย่างไร
คุณแม่สามารถสนับสนุนพัฒนาการด้านภาษาของลูกด้วยการคุยกับเขาบ่อย ๆ เริ่มได้ตั้งแต่แรกเกิด เน้นความสำคัญไปที่การคุยกับลูกพร้อมการมองหน้าและสบตา (face-to-face interaction) ระหว่างการพูดควรเปล่งเสียงสูงต่ำ พูดช้า ๆ เพื่อให้ลูกได้สนุกกับการเรียนรู้เสียงที่หลากหลาย ถามคำถามต่าง ๆ กับเขาและรอคำตอบของเขา ซึ่งลูกอาจจะแสดงการตอบกลับด้วยการร้องหรือส่งเสียง คุณแม่สามารถใช้การร้องเพลง การอ่านหนังสือ อาจใช้ภาษากายร่วมกับของเล่นเพื่อให้ลูกสนใจและเข้าใจมากขึ้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่เป็นภาษาเพื่อเล่นกับลูก เพราะในระหว่างที่เราคุย ลูกจะจดจำคำศัพท์ไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนจะเริ่มพูดไม่พร้อมกัน ลูกของเราอาจจะช้ากว่าลูกของเพื่อน คุณแม่จะเป็นคนที่เข้าใจลูกมากที่สุด หากคุณแม่พบว่าลูกมีปัญหาด้านการสื่อสารหรือเมื่อใกล้ 2 ขวบ ยังไม่แสดงให้เห็นการตอบสนองทางการพูด ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยในหลาย ๆ กรณี เด็ก ๆ อาจเริ่มพูดช้าเพราะใช้เวลาดูหน้าจอมากเกินไป
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)