โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (UTIs) เป็นโรคของระบบทางเดินปัสสาวะในเด็กที่พบบ่อยที่สุด โดยจะเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงร้อยละ 8 และเด็กผู้ชายร้อยละ 2
การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อจะเกิดขึ้นที่กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ เมื่อของเสียไม่ได้ถูกกำจัดออก ของเสีย (ปัสสาวะ) จะเดินทางมายังท่อปัสสาวะ แล้วลุกลามต่อเข้ากระเพาะปัสสาวะหรือท่อไต
เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน และอาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะแตกต่างกันไปตามอายุของเด็ก
อาการทั่วไปของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ:
- รู้สึกเจ็บ แสบร้อน หรือแสบเวลาปัสสาวะ
- รู้สึกอยากปัสสาวะแต่ทำไม่ได้
- ปัสสาวะบ่อย
- ปวดท้องน้อย
- ปวดหลัง
สัญญาณเตือนว่าลูกอาจมีอาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ:
- ปัสสาวะขุ่น สีเข้ม มีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดปน
- มีไข้หรือหนาวสั่น
- อารมณ์ไม่ดี
- มีอาการเหนื่อยล้าผิดปกติ
- ท้องเสีย
- อาเจียน
สาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก
- ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ: เด็กที่ป่วยอาจมีความผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะ หรือปัญหาเกี่ยวกับไต ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะ นิ่ว หรือความผิดปกติในการบีบและคลายตัวของกระเพาะปัสสาวะ
- นิสัยการถ่ายปัสสาวะที่ไม่เหมาะสม: เด็กหลายคนกลั้นปัสสาวะนานเกินไป การอั้นปัสสาวะทำให้แบคทีเรียเติบโต นอกจากนี้ เด็กที่ดื่มน้ำไม่เพียงพออาจผลิตปัสสาวะได้ไม่เพียงพอที่จะล้างแบคทีเรียอีกด้วย
- ปัสสาวะไหลย้อน: ปัสสาวะไหลย้อนกลับ (reflux) อย่างผิดปกติจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นไปที่ท่อไตและไปยังไต
- ประวัติของคนในครอบครัว: คนในครอบครัวมีการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมาก่อน
- อาการท้องผูก: อาการท้องผูกในเด็กอาจส่งผลให้ลำไส้ใหญ่บวมจนกดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงไม่สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ
- หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิด (ผู้ชาย): หากรูเปิดของหนังหุ้มปลายเล็ก หรือเปิดไม่ได้ อาจทำให้เกิดการตกค้างของปัสสาวะเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้บ่อย
- ความผิดปกติของระบบประสาทและไขสันหลัง: ทำให้มีอาการปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะออกน้อย ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะเป็นหยด หรือปัสสาวะไหลย้อนทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น
วิธีการป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก
- รักษาบริเวณอวัยวะเพศของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ สำหรับทารกและเด็กเล็ก ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ และในระหว่างการฝึกใช้กระโถนควรสอนลูกให้มีสุขอนามัยที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เด็กผู้หญิงควรได้รับการสอนให้เช็ดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลัง แทนการเช็ดจากด้านหลังไปด้านหน้าเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคจากทวารหนักสู่ท่อปัสสาวะ
- ให้เด็ก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือน้ำอัดลม
- เด็กหญิงวัยเรียนควรหลีกเลี่ยงการแช่อ่างอาบน้ำและสบู่ที่มีค่า pH ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดการท้องผูก
วิธีการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก
การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในเด็ก จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงของเด็กแต่ละคน และสาเหตุพื้นฐานของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เด็กที่ติดเชื้อรุนแรงกว่าอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับยาปฏิชีวนะโดยการฉีดหรือให้ยาทางสายน้ำเกลือ หากเด็กมีอาการปวดอย่างรุนแรงขณะปัสสาวะ แพทย์อาจสั่งยาที่ทำให้เกิดการชาบริเวณเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ
คุณพ่อคุณแม่ควรติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อลูกต้องการเข้าห้องน้ำ และคอยสอบถามลูกว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกดื่มน้ำที่ไม่หวาน โดยเฉพาะน้ำเปล่าสะอาด โดยปกติแล้วโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะจะหายขาดภายในหนึ่งสัปดาห์ด้วยการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
คุณพ่อคุณแม่ควรติดต่อแพทย์หรือเดินทางไปพบแพทย์ทันทีหากลูกมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ (เมื่อมีอุณหภูมิมากกว่า 38.3°C ในเด็ก หรือ 38°C ในทารก) และมีอาการหนาวสั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกบ่นเกี่ยวกับอาการปวดหลังหรือปวดเมื่อปัสสาวะ เบื่ออาหาร อาเจียนหลายครั้ง หรือมีอาการระคายเคืองผิดปกติ
กุมารแพทย์หลายคนยังแนะนำให้ผู้ปกครองจดชื่อโรค หากมีการวินิจฉัยโรคครั้งใหม่ ชื่อยา การรักษา หรือการทดสอบใหม่ ๆ ระหว่างการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกครั้ง จดคำแนะนำใหม่ที่กุมารแพทย์ของคุณมอบให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรรู้วิธีติดต่อกุมารแพทย์หลังเวลาทำการ เพื่อติดต่อยามฉุกเฉิน และคุณมีคำถามหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (11 กุมภาพันธ์ 2022)