อาหารแบบไหนปลอดภัยสำหรับลูกน้อย?
คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของอาหารที่ให้ลูกน้อยทานเข้าไป
เด็กทารกและเด็กเล็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีจะมีความอ่อนไหวต่อโรคที่เกิดจากอาหารมาก เนื่องจากกระเพาะอาหารของพวกเขายังไม่สามารถสร้างกรดปริมาณเพียงพอ และพวกเขายังไม่มีระบบภูมิต้านทานที่พัฒนาเต็มที่ นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังมีกล้ามเนื้อคอหอยและกล่องเสียงที่ยังไม่สามารถทำงานประสานกันเต็มที่ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอาหารติดคอได้ ดังนั้นควรมีสติเสมอขณะที่กำลังให้อาหารเด็กทารกและเด็กเล็ก
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากอาหาร
เด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนควรได้ดื่มนมแม่ หรือนมผงเท่านั้น และเมื่อถึงเวลาให้ทารกทานอาหารเหลว ควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้
- ปลาดิบหรือสุกไม่ทั่วถึง รวมถึงสัตว์ทะเลมีเปลือกดิบหรือยังสุกไม่ทั่วถึง
- เครื่องดื่มและอาหารที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ เช่นนมดิบ น้ำผลไม้ และไซเดอร์ที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
- ถั่วงอกดิบ เช่นโคลเวอร์ อัลฟัลฟา และแรดิช
- ไข่ดิบ หรือไข่กึ่งสุกกึ่งดิบ (เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซัลโมเนลลา)
- เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ยังไม่ปรุงสุก หรือสุกไม่ทั่วถึง
- น้ำผึ้ง สำหรับเด็กทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน (เพื่อป้องกันโรคโบทูลิซึม)
การเก็บอาหารให้ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
คุณแม่ควรทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารที่ลูกน้อยทานมีความปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกทานอาหารจากกระป๋องโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนลงในอาหาร และทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
- ถ้าเป็นไปได้ คุณแม่ที่มีเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบไม่ควรเตรียมอาหารให้ลูกน้อย แต่ยังสามารถให้นมลูกได้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร
- อุปกรณ์ทานอาหารทุกชนิด รวมไปถึงขวดนมและแก้วต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อนใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 3 เดือนแรก
- หากคุณแม่ใช้เครื่องปั๊มนม ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำในการทำความสะอาดเครื่องมือ เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์สะอาดและปลอดภัย
- ตรวจสอบวันหมดอายุของนมผงที่ลูกน้อยทานเสมอ
- ทำตามข้อแนะนำบนสลากนมผง ในการเตรียมนมและเก็บรักษานมให้ลูกน้อย
- หากคุณแม่เตรียมอาหารปริมาณมาก ควรเอาอาหารไว้ในตู้เย็นเพื่อให้อาหารเย็น และไม่ควรเก็บอาหารนานกว่า 3 วัน หากต้องนำอาหารออกไปข้างนอก ควรใช้น้ำแข็งหรือเจลเก็บความเย็นเพื่อยืดอายุอาหารให้นานขึ้น
อาหารที่อาจทำให้ติดคอ
ไม่แนะนำให้เด็กทานอาหารบางชนิด เนื่องจากอาจทำให้ติดคอและสำลักได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กนั้นมีความเสี่ยงอาหารติดคอง่าย อาหารที่เสี่ยงติดคอมีดังนี้
- อาหารเหนียวหนึบ เช่น คาราเมล มาร์ชแมลโลว์ เจลลี่บีน ผลไม้แห้ง เยลลี่ผลไม้ ทอฟฟี่หนึบ เนยถั่วแบบหยาบ หมากฝรั่ง และลูกกวาดแบบหนึบต่าง ๆ
- อาหารขนาดเล็กและแข็ง เช่น มันฝรั่งอบกรอบ เพรทเซล ถั่ว ข้าวโพดคั่ว เมล็ดพืช เมล็ดข้าวโพด, มะกอกทั้งลูก มะเขือเทศเชอร์รี่ และผักดิบชิ้นใหญ่
- อาหารลื่น ๆ เช่นอาหารลักษณะกลม (ผลองุ่น เบอร์รี่ และเชอร์รี่) เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ลูกอม และลูกกวาดแบบแข็ง
การป้องกันอาหารติดคอ
คุณแม่สามารถทำตามข้อแนะนำด้านล่างนี้ เพื่อป้องกันอาหารติดคอ
- เฝ้าดูเสมอขณะรับประทานอาหาร
- ให้ลูกทานอาหารที่เขาใช้มือหยิบและแทะได้ง่าย
- ไม่ควรเล่น หรือวิ่งขณะรับประทานอาหาร
- ส่งเสริมให้ลูกกินช้า ๆ และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
- เรียนรู้การปฐมพยาบาลสำหรับทารก เช่นท่าไฮม์ลิคช์ และการปั๊มหัวใจ (CPR)