อาการไอ
สุขภาพของลูก
อาการไอเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งมักจะเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ในบางครั้งอาการไออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลำคอหรือหน้าอก
อาการไอชนิดต่างๆ :
- ไอแบบมีเสียงก้องหรือคล้ายเสียงเห่า
- ไอกรน
- ไอร่วมกับหายใจหวีด
- อาการไอเฉพาะตอนกลางคืน
- อาการไอเฉพาะตอนกลางวัน
- ไอร่วมกับมีไข้
- ไอร่วมกับอาเจียน
- ไอเรื้อรัง
บางครั้งเด็ก ๆ อาจมีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า การไอหลังการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
หากลูกรู้สึกไม่สบายและคุณแม่เป็นกังวล ควรพาลูกไปพบแพทย์ และเมื่อลูกมีอาการไอร่วมกับ:
- หายใจลำบาก
- หายใจเร็วกว่าปกติ
- ริมฝีปาก ใบหน้า เล็บ หรือลิ้นกลายเป็นสีม่วง
- มีไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน
- ไอแบบมีเลือดปนออกมา
- มีเสียงดังขณะหายใจเข้าและออก
- มีอาการขาดน้ำ วิงเวียน ง่วงนอน ปากแห้ง หรือดวงตาโหล
วิธีรักษาอาการไอ
อาการไอส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส และมักใช้เวลาสูงสุด 2 สัปดาห์ก่อนที่จะสามารถหายได้เอง
- ควรปรึกษาแพทย์หากต้องการใช้ยาแก้ไอในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่มีอาการไอรุนแรง หรือเด็กไม่สามารถนอนหลับได้จนจำเป็นต้องใช้ยา
- หากลูกมีอาการไอคล้ายเสียงเห่า ให้เปิดน้ำร้อนในห้องน้ำแล้วปิดประตูเพื่อสร้างไอน้ำในห้อง นั่งอยู่กับลูกเพื่ออบไอน้ำประมาณ 15 นาที ไอน้ำจะสามารถช่วยให้เด็กหายใจได้ง่ายขึ้น
- พยายามอย่าให้ลูกสัมผัสกับควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ หรือเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิเย็นจนเกินไป
- สำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 1 ปี คุณแม่อาจให้จิบน้ำผึ้งหนึ่งช้อนชา 30 นาทีก่อนนอน เพื่อช่วยให้ชุ่มคอ (ห้ามให้น้ำผึ้งกับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี)
คุณแม่ควรทราบว่ายาปฏิชีวนะไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการไอที่เกิดจากไวรัสได้ อาการไอบางอย่างอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอ ในกรณีเหล่านี้แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะให้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้ไอกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี แพทย์อาจสั่งยาละลายเสมหะให้กับเด็กแต่ไม่ใช่ยาที่กดอาการไอเพื่อบรรเทาอาการ