ให้นมลูกท่าไหนดีนะ
นมแม่
คุณแม่สามารถลองจัดท่าทางในการให้นมลูกหลาย ๆ แบบ เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าแบบไหนดีที่สุด ท่าที่เป็นที่นิยมสำหรับคุณแม่หลาย ๆ คนมีดังต่อไปนี้
ก่อนจะเริ่มจัดท่า
ไม่ว่าคุณแม่จะให้นมท่าไหน ควรดูให้แน่ใจว่า:
- ร่างกายของทารกน้อยแนบชิดกับคุณแม่
- คุณแม่ผ่อนคลายหัวไหล่ และร่างกายของลูกอยู่ต่ำกว่าหัวนมคุณแม่เล็กน้อย
ท่าให้นมแบบมาตรฐาน: ท่าลูกนอนขวางบนตัก
ท่าลูกนอนขวางบนตัก ถือเป็นท่าที่ใช้บ่อยที่สุดในการอุ้มทารก มีวิธีทำดังนี้
- อุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมแขน ให้ท้ายทอยของลูกวางบริเวณข้อพับแขนของคุณแม่ โดยใช้มือรองลำตัวลูกน้อยไว้
- จัดท่าให้หู หัวไหล่ และสะโพกของลูกน้อยอยู่ในตำแหน่งตรงกัน
- วางท่อนแขนของลูกน้อยใต้แขนของคุณแม่
- ให้ลูกดื่มนมจากเต้านมฝั่งเดียวกับแขนที่ประคองตัวลูกน้อย
ถึงแม้ท่านี้จะเป็นท่าที่นิยม แต่คุณแม่หลายคนก็พบว่าท่านี้ทำยาก หรืออาจทำยากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแล้วทารกน้อยตัวใหญ่ขึ้น ทำให้ยากที่จะอุ้มโดยใช้แขนข้างเดียวได้
ท่าให้นมที่เหมาะกับเด็กแรกเกิด: ท่าลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์
ท่าอุ้มลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์เป็นท่าที่เหมาะกับการฝึกให้เด็กแรกเกิดหัดเข้าเต้าอย่างถูกต้อง เนื่องจากมือของคุณแม่จะช่วยประคองหัวทารกน้อยไว้
- เริ่มจากอุ้มทารกด้วยต้นแขนข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นใช้มืออีกข้างประคองต้นคอลูกและข้อพับแขนอยู่ใต้ก้น
- ใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการป้อนนมคอยประคองหัวลูกไว้ และประคองให้หันหัวเข้าหาเต้านม
- ดูให้แน่ใจว่าคอและร่างกายลูกอยู่ในแนวเดียวกัน
ท่าที่เหมาะกับสัญชาตญาณตามธรรมชาติ : ท่าอุ้มลูกแบบเอนตัว
ท่านี้เป็นไปตามชื่อเรียก กล่าวคือทารกน้อยจะพักผ่อนบนตัวคุณแม่ที่เอนนอนอยู่ และสามารถคลำหาหัวนมและดูดนมด้วยตัวเอง มีวิธีทำดังนี้
- ให้คุณแม่นั่งเอนตัวบนที่สบาย โดยให้หัวและคอพิงบนหมอนที่สูงกว่าเล็กน้อย
- วางลูกน้อยบนตัวคุณแม่ โดยให้หัวของลูกอยู่ระดับเดียวกับเต้านม ใกล้กับหัวนมคุณแม่ ตรวจดูให้แน่ใจว่าคอลูกไม่พับ
- ใช้มือและแขนช่วยประคองตัวลูกเท่าที่ลูกน้อยต้องการ
- ทารกน้อยจะคลำหาหัวนมของคุณแม่และเริ่มดูดนมตามสัญชาตญาณ คุณแม่ควรดูให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งกีดขวางจมูกของลูกน้อย
ท่าสำหรับคุณแม่ผ่าคลอดหรือมีลูกแฝด: ท่าอุ้มลูกฟุตบอล
ท่าอุ้มลูกฟุตบอลเป็นที่นิยมในคุณแม่ที่มีหน้าอกใหญ่ หรือคุณแม่ที่ต้องผ่าคลอดแบบ C-section เนื่องจากน้ำหนักของทารกน้อยจะไม่กดลงบนหน้าท้องของคุณแม่ ท่านี้ต้องใช้หมอนหนึ่งใบเพื่อช่วยรับน้ำหนักในฝั่งที่ให้นม มีวิธีทำดังนี้
- เริ่มจากอุ้มลูกน้อยไว้ด้วยแขนข้างหนึ่ง โดยใช้มือประคองท้ายทอยของลูกไว้
- วางลำตัวของลูกไว้บริเวณเอวโดยให้สะโพกของลูกแนบกับสะโพกของคุณแม่
- ประคองปากของลูกน้อยให้เข้าใกล้หัวนมคุณแม่ ฝั่งเดียวกับแขนที่อุ้มลูก
- คุณแม่ที่มีลูกแฝดและอยากให้นมลูกน้อยในเวลาเดียวกันก็สามารถใช้ท่านี้ได้
ท่าพัก: ท่านอนตะแคง
คุณแม่หลายคนเลือกใช้ท่านี้ในการให้นมลูกน้อยในช่วงเวลาที่นอนหลับ เนื่องจากแม่และลูกสามารถนอนเคียงข้างกันได้ สามารถทำได้ดังนี้
- นอนตะแคงหันหน้าเข้าหาทารกน้อย ใช้แขนที่อยู่ข้างใต้ประคองคอตัวเองไว้
- จากนั้นใช้แขนด้านบนค่อย ๆ ประคองลูกน้อยให้เข้าหาเต้านมในท่าตะแคงข้าง
- ใช้มือข้างที่ว่างพยุงคอและหลังของลูกไว้
- ดูให้แน่ใจว่าคอและหลังของลูกอยู่ในแนวเดียวกัน
เมื่ออยู่ในท่านี้ คุณแม่ควรใช้ความระมัดระวัง ควรเอาหมอน ผ้าห่มหรือสิ่งของต่าง ๆ ออกจากเตียง และไม่ควรนอนหลับระหว่างให้นมเพื่อป้องกันการหายใจไม่ออก และป้องกันโรคไหลตายในทารก (SIDS) ที่อาจเกิดขึ้นได้
ทารกที่อายุมากขึ้น: ท่าตัวตรง
ท่าให้นมแบบตัวตรงเหมาะกับทารกที่มีอายุมากขึ้นที่สามารถพยุงร่างกายให้นั่งเองได้ เหมาะกับเวลาที่คุณแม่และลูกอยู่นอกบ้าน
- เริ่มจากให้ลูกนั่งบนตัก หรือให้นั่งลูกนั่งคร่อมบนขาของคุณแม่
- ประคองท้ายทอยและหลังของลูกน้อยตามความเหมาะสม
สำหรับการให้นมแล้วไม่มีท่าที่ถูกต้องที่สุด หรือท่าที่ผิดแต่อย่างใด ท่าที่ดีที่สุดคือท่าที่คุณแม่และลูกน้อยสบายและพึงพอใจตลอดระยะเวลาของการให้นมนั่นเอง
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)