คาเฟอีน
เมนูลูกรัก
คาเฟอีนเป็นสารกระตุ้นตามธรรมชาติที่มีอยู่ในกาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต อาหาร และเครื่องดื่มอื่น ๆ ถึงแม้จะเป็นสารที่นิยมบริโภค แต่คาเฟอีนนั้นไม่ดีต่อเด็ก
ผลของคาเฟอีนต่อร่างกายเด็ก ๆ
คาเฟอีนถือว่าเป็นสารเสพติด เนื่องจากเป็นสารที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีผลกระทบต่อร่างกายและด้านจิตประสาท การทานคาเฟอีนมากเกินไปจะทำให้มีผลดังนี้
- มีอาการตื่นเต้น
- รู้สึกตื่นตัว
- ความดันในเลือดสูงขึ้น
- อัตราการเต้นของหัวใจถี่ขึ้น
- วิตกกังวล กระวนกระวายใจ
- ไม่สามารถตั้งสมาธิ
- นอนหลับยาก
- ปวดหัว
- ปวดท้อง
- อาการเสพติด
เด็ก ๆ จะไวต่อสารคาเฟอีนมากกว่าผู้ใหญ่ คาเฟอีนจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และทำให้เด็กมีความรู้สึกกระวนกระวายได้เป็นเวลานานถึง 6 ชั่วโมง
ปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดจากคาเฟอีน
ด้านล่างนี้คือเหตุผลที่ควรจำกัดการบริโภคคาเฟอีนของลูกน้อย
- เด็ก ๆ มักจะได้รับคาเฟอีนจากน้ำหวาน และทำให้เกิดโรคอ้วน
- การบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและน้ำตาลมาก ๆ จะทำให้ฟันผุ เนื่องจากมีน้ำตาลสูง และกรดในเครื่องดื่มไปกัดกร่อนเคลือบฟัน
- เครื่องดื่มที่เติมคาเฟอีนมักจะมีแคลอรีว่างเปล่า หรือ empty calories ทำให้เด็ก ๆ ที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้รู้สึกอิ่มก่อนที่จะทานอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย
- คาเฟอีนอาจทำให้อาการของโรคหัวใจแย่ลง และทำให้ความผิดปกติของประสาทอาการแย่ลง
- คาเฟอีนมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งทำให้ร่างกายขับน้ำออกมามากขึ้น และทำให้ขาดน้ำได้
- การหยุดบริโภคคาเฟอีนอาจทำให้เกิดอาการถอนต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และอาการหงุดหงิด
ความไวต่อคาเฟอีนคืออะไร?
ความไวต่อคาเฟอีน คือปริมาณของคาเฟอีนที่จะส่งผลกระทบต่อบุคคลหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วยิ่งคนนั้นมีร่างกายที่เล็กเท่าไร ปริมาณคาเฟอีนที่ต้องใช้เพื่อให้เกิดผลกระทบก็จะยิ่งน้อย อย่างไรก็ตาม คนที่บริโภคคาเฟอีนบ่อย ๆ จะมีความไวต่อคาเฟอีนลดลง ซึ่งหมายความว่าเขาจะต้องการปริมาณคาเฟอีนมากขึ้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพเท่ากับคนที่ไม่ได้บริโภคบ่อย ๆ ดังนั้นหากเด็กได้รับคาเฟอีนบ่อย ๆ เขาก็จะต้องการปริมาณมากขึ้นเพื่อให้รู้สึกเท่าเดิม
อาหารและเครื่องดื่มแบบไหนที่มีคาเฟอีน?
คาเฟอีนมีอยู่ตามธรรมชาติในใบและเมล็ดของพืชบางชนิด แต่บางครั้งมีการเติมคาเฟอีนสังเคราะห์ลงไปในอาหารบางชนิด เด็ก ๆ มักได้รับคาเฟอีนส่วนใหญ่จากน้ำอัดลม และอาจได้รับจากช็อกโกแลต ชา กาแฟ ไอศกรีม ชาเย็น โยเกิร์ต ยาแก้ปวด และยาอื่น ๆ ที่มีขายในท้องตลาด
จะลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนของลูกได้อย่างไร?
หากคุณแม่ไม่ต้องการให้ลูกบริโภคคาเฟอีน ไม่ควรให้เขาดื่มน้ำอัดลม ควรให้เขาดื่มน้ำเปล่า นม หรือน้ำผสมวิตามินแทน นอกจากนี้ อาจให้เขาดื่มน้ำผลไม้ 100% ปริมาณน้อย ๆ ได้ และอย่าลืมตรวจสอบปริมาณคาเฟอีนในส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม
การลดการบริโภคคาเฟอีน
หากต้องการลดการบริโภคคาเฟอีนของลูกน้อย ควรค่อย ๆ ลดปริมาณอย่างช้า ๆ จะดีที่สุด ไม่อย่างนั้นลูกอาจมีอาการปวดหัว รู้สึกซึมเศร้า หรือรู้สึกปวดตามร่างกายได้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากลดคาเฟอีนแล้วลูกน้อยจะรู้สึกเหนื่อยล้า แต่เป็นวิธีที่ร่างกายบอกว่าต้องการคาเฟอีนมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วลูกจะรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ในเวลาสองสามวัน
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (22 กรกฎาคม 2021)