คลอเรสเตอรอล
เมนูลูกรัก
คลอเรสเตอรอลคือไขมันที่มีลักษณะเหมือนขี้ผึ้ง ซึ่งพบได้ตามธรรมชาติในเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ร่างกายจะใช้คลอเรสเตอรอลในการสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ เช่น เอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรน รวมถึงใช้ในการสร้างวิตามินดี เด็กที่ได้สะสมคลอเรสเตอรอลไว้ในร่างกายมากเกินไปจะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
แหล่งที่มาของคลอเรสเตอรอล
ถึงแม้ตับจะสามารถสร้างคลอเรสเตอรอลให้ร่างกายได้ใช้งานอย่างเพียงพอ แต่อาหารบางชนิดที่เรากินเข้าไปก็มีคลอเรสเตอรอลอยู่ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูงจะทำให้ตับผลิตคลอเรสเตอรอลมากขึ้น ตัวอย่างอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลมีตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล ส่วนอาหารจากพืช เช่น ผัก ผลไม้และธัญพืชจะไม่มีคลอเรสเตอรอล
คลอเรสเตอรอลที่ดีและไม่ดี
คลอเรสเตอรอลไม่สามารถละลายในน้ำได้ แต่จะละลายในไขมัน ดังนั้นมันจึงไม่สามารถละลายไปในกระแสเลือดได้ แต่จะต้องเกาะตัวกับโปรตีนชนิดไลโปโปรตีน ซึ่งมีอยู่สองชนิด ได้แก่ ไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นสูง (high-density lipoproteins หรือ HDL) และไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (low-density lipoproteins หรือ LDL)
HDL มักถูกเรียกว่าเป็นคลอเรสเตอรอลที่ดี เพราะไลโปโปรตีนเหล่านี้พาคลอเรสเตอรอลออกจากเส้นเลือดไปที่ตับ จากนั้นตับทำให้คลอเรสเตอรอลแตกตัวและขับออกจากร่างกาย
LDL เป็นคลอเรสเตอรอลที่ไม่ดี เนื่องจากหากไลโปโปรตีนเหล่านี้มีอยู่ในร่างกายในปริมาณที่มากเกินไป อาจเกาะผนังเส้นเลือด และเมื่อเกาะสะสมไปนาน ๆ จะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ เช่น หัวใจและสมอง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
สาเหตุของภาวะคลอเรสเตอรอลสูง
ปัจจัยที่ทำให้คลอเรสเตอรอลสูงได้แก่
- น้ำหนักเกิน: อาจเป็นเพราะทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือไม่ออกกำลังกาย
- กรรมพันธุ์: บางครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคคลอเรสเตอรอลสูง
- อาหาร: การทานอาหารที่มีไขมันมาก โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์
วิธีตรวจเช็คปริมาณคลอเรสเตอรอล
คุณสามารถพาลูกไปตรวจปริมาณคลอเรสเตอรอลเมื่ออายุ 9-11 ปี และอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 17-21 ปี หรือให้เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปตรวจปริมาณคลอเรสเตอรอลหากมีสัญญาณต่อไปนี้
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
- น้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน
- คุณพ่อคุณแม่ หรือญาติใกล้ชิดมีปริมาณคลอเรสเตอรอลมากกว่า 240 mg/dL
- อาการป่วย เช่น โรคไต โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
วิธีรักษาภาวะคลอเรสเตอรอลสูง
หากลูกน้อยมีค่า LDL สูงกว่า 130 mg/dL คุณหมอจะแนะนำให้เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ลดการบริโภคอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ให้ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและพยายามลดน้ำหนัก
สำหรับเด็กที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ที่มีคลอเรสเตอรอลมากกว่า 190 mg/dL คุณหมออาจพิจารณาให้ทานยาร่วมด้วย โดยเฉพาะถ้าได้ลองเปลี่ยนการทานอาหารและเพิ่มการออกกำลังกายตามคำแนะนำก่อนหน้านี้แล้วไม่ได้ผล สำหรับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน ความดันในเลือดสูง หรือประวัติครอบครัวมีคลอเรสเตอรอลสูง และเป็นโรคหัวใจ อาจแนะนำให้กินยาแม้จะมีค่า LDL ต่ำกว่าปริมาณ 190 mg/dL
วิธีลดค่าคลอเรสเตอรอล
ในฐานะผู้ปกครอง คุณแม่ควรตรวจค่าคลอเรสเตอรอลของตัวเอง หากมีค่าสูงควรให้ลูกน้อยตรวจคลอเรสเตอรอลด้วย
ต่อไปนี้คือเทคนิคในการรักษาระดับคลอเรสเตอรอลของคนในครอบครัวไม่ให้สูงเกินไป
- ลดปริมาณเครื่องดื่ม และอาหารที่มีการเติมน้ำตาล
- วางแผนให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน
- เมื่อซื้ออาหาร ให้อ่านตารางโภชนาการเสมอเพื่อลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
- ลดปริมาณเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และเพิ่มการบริโภคผักมากขึ้น
- ทานปลาที่มีไขมันดี
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (8 กรกฎาคม 2021)