การรับมือกับภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
สุขภาพจิต
ภาวะซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางจิตใจที่แสดงออกมาผ่านความรู้สึกเศร้าหมอง หมดเรี่ยวแรง และขาดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ
ภาวะนี้อาจเกิดระหว่างตั้งครรภ์และอาจเป็นอุปสรรคสำหรับคุณแม่และลูกที่กำลังเติบโต
ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเกิดกับ 1 ใน 10 ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์
ไม่มีใครรู้ว่าภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่หลักฐานพบว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และความเครียดที่มาพร้อมกับการตั้งครรภ์
ผู้หญิงที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนการตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้าได้อีก หรืออาการอาจหนักขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ได้
ปัจจัยหลายอย่างที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าในช่วงที่ตั้งครรภ์มีดังนี้:
- ความเครียดจากความเปลี่ยนแปลงในชีวิต
- ขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง
- การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ
- ความรุนแรงในครอบครัว
- ความเหงา
- ปัญหาในการนอนหลับ
- ความวิตกกังวล
สัญญาณและอาการของโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร
อาการของโรคซึมเศร้าอาจดูเหมือนเป็นความรู้สึกทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คงอยู่นาน ไม่ยอมหายไป นั่นแปลว่าคุณอาจมีภาวะซึมเศร้า โดยทั่วไปแล้วอาการมีดังนี้:
- รู้สึกเศร้าซึมตลอดวัน หรือหลายวันในหนึ่งสัปดาห์
- รู้สึกหมดเรี่ยวแรง
- ขาดความสนใจในการทำงานหรือกิจกรรมที่เคยสนใจ
- นอนมากกว่าปกติ หรือมีปัญหานอนไม่หลับ
- ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด หรือกินมากเกินไปและน้ำหนักเพิ่มมาก
- มีความรู้สึกผิด ท้อแท้สิ้นหวัง หรือรู้สึกไร้ค่า
- มีปัญหาในการตั้งสมาธิ จดจ่อ หรือการตัดสินใจ
- มีความคิดอยากตายหรือฆ่าตัวตาย
ภาวะซึมเศร้าส่งผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร
หากคุณแม่ปล่อยให้มีภาวะซึมเศร้าต่อไปตลอดการตั้งครรภ์ คุณอาจไม่สามารถดูแลตนเอง คุณอาจไม่สามารถทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือพักผ่อนให้เพียงพอได้ หากอาการรุนแรงคุณอาจมีโอกาสทำร้ายตัวเอง นอกจากนี้การไม่รักษาโรคซึมเศร้าจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น
การไม่รักษาภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดปัญหาต่อทารกได้ ตัวอย่างเช่น:
- อาจรบกวนการเจริญเติบโตของทารก
- อาจมีปัญหาทางสุขภาพหลังคลอด
- ทารกอาจมีปัญหาทางอารมณ์และทางพฤติกรรมเมื่อโตขึ้น
การรักษาภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์
วิธีรักษาภาวะซึมเศร้ามีดังต่อไปนี้:
- การทำจิตบำบัด: ประกอบด้วยการทำจิตบำบัดเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม (cognitive-behavioral therapy – CBT) และการบำบัดพฤติกรรมระหว่างบุคคล (interpersonal therapy – IPT)
- การเข้ากลุ่มสนับสนุน: กลุ่มสนับสนุนคือกลุ่มคนที่มาพบหน้ากัน หรือพบกันออนไลน์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง ๆ คุณอาจสอบถามนักจิตบำบัดเพื่อให้ช่วยหากลุ่มสนับสนุน หรือหาทางออนไลน์
- การใช้ยา: หากมีความจำเป็น แพทย์จะให้ยาต้านเศร้า 1 ชนิดหรือมากกว่านั้น ไม่ควรเริ่มกินยาที่แพทย์ไม่ได้สั่ง หรือหยุดยาต้านเศร้าด้วยตนเอง
- การใช้กระแสไฟฟ้า: หากการใช้ยาไม่ได้ผล จิตแพทย์อาจเสนอให้ใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy – ECT) ซึ่งใช้การส่งผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าสู่สมองเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง การรักษาวิธีนี้ปลอดภัยที่จะทำได้ระหว่างตั้งครรภ์
คุณและแพทย์จะตัดสินใจร่วมกันว่าควรใช้วิธีใดในการรักษาภาวะซึมเศร้า อาจใช้หลายวิธีร่วมกันแทนที่จะใช้วิธีเดียวก็ได้
ยาต้านเศร้าปลอดภัยแค่ไหนสำหรับหญิงตั้งครรภ์
หลักฐานแสดงให้เห็นว่ายาต้านเศร้าที่มีให้เลือกในปัจจุบันมีความปลอดภัยพอที่จะสามารถใช้ระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยแทบไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อทารก อย่างไรก็ตามยังไม่มีใครทราบถึงผลกระทบระยะยาวที่ตามมา ดังนั้นแพทย์จะอธิบายถึงความเสี่ยงต่าง ๆ และผลดีของยาให้ทราบก่อนที่จะจ่ายยา
ขอขอบคุณ
บทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนี้ถูกจัดทำขึ้นจากการร่วมมือและการสนับสนุนจาก Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (1 สิงหาคม 2022)