วิธีช่วยให้ลูกน้อยเลิกดูดเต้า
นมแม่
การเลิกเต้าควรเป็นการตัดสินใจจากทั้งสองฝ่าย คือทั้งคุณแม่และลูกน้อย เพราะท้ายที่สุดแล้ว การให้นมไม่ได้เป็นการให้สารอาหารแก่ลูกน้อยอย่างเดียว แต่ยังให้ความรู้สึกปลอดภัยและความอบอุ่นแก่ลูกอีกด้วย
ควรหยุดให้นมจากเต้าเมื่อไร
ไม่มีเวลาที่แน่นอนว่าควรหย่านมเมื่อไร เวลาที่ดีที่สุดคือเวลาที่ทั้งคุณแม่และลูกพร้อม และควรแน่ใจว่าระหว่างขั้นตอนการหย่านมของลูกนั้น ไม่มีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มความเครียดให้ทั้งคู่ เช่นการย้ายบ้าน การปรับตารางชีวิตใหม่ หรือการเดินทาง
ทำอย่างไรให้ลูกเลิกเต้า
วิธีที่ดีที่สุดในการหยุดให้นมแม่ ควรเป็นวิธีที่ทั้งคุณแม่และลูกรู้สึกปลอดภัยและไร้กังวลที่สุด คุณแม่ควรทราบข้อคิดต่อไปนี้เพื่อการวางแผนหย่านมลูกน้อย
- ค่อยเป็นค่อยไป: กระบวนการหย่านมควรเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย โดยใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพื่อช่วยให้ร่างกายคุณแม่ค่อย ๆ ปรับตัว ป้องกันปัญหาเต้านมคัดตึง หรือท่อนมตัน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือลูกน้อยของคุณแม่ต้องการเวลาทำความเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันรูปแบบใหม่ ทารกบางคนก็มีอาการติดแม่มากขึ้น หรือร้องไห้บ่อยขึ้นในช่วงที่หย่านม
- เว้นการให้นมแม่ 1 มื้อ: เพื่อให้กระบวนการหย่านมเป็นไปอย่างนุ่มนวลที่สุด ควรเว้นการเข้าเต้าวันละครั้งก่อนจนกว่าทารกน้อยจะชินกับการดูดนมจากขวด หรือดื่มจากถ้วยมากขึ้น จากนั้นค่อย ๆ ลดการให้นมจากเต้าในมื้ออื่นต่อไป
- ปั๊มนมให้น้อยลง: คุณแม่อาจปั๊มนมเพื่อลดแรงดัน และลดอาการบวมที่เกิดขึ้นเพราะลูกเข้าเต้าน้อยลง หากคุณแม่ต้องการเก็บนมสำรองเอาไว้ให้ลูก คุณแม่สามารถปั๊มนมให้นานพอ ๆ กับที่ลูกดูดนมได้ แต่หากไม่ต้องการเก็บนมสำรองไว้ คุณแม่อาจปั๊มนมเพียงสองสามนาทีเพื่อลดแรงดัน และเป็นการบอกร่างกายให้ผลิตน้ำนมน้อยลงอีกทางหนึ่ง
- ลดการให้นมแม่: คุณแม่อาจเริ่มลดการเข้าเต้าโดยเลือกช่วงเวลาที่ง่ายที่สุดของวัน ส่วนใหญ่จะเป็นเวลากลางวัน คุณแม่หลายคนพบว่าการให้ลูกเลิกเต้าช่วงเช้า หรือช่วงกลางคืนทำได้ยากกว่าเพราะลูกมักจะติดแม่เพราะต้องการความอบอุ่นจากแม่มากเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้
- ให้ความสบายใจกับลูก: สำหรับทารกที่อายุยังน้อยจะยังติดความอบอุ่นและความสบายใจจากเต้านมคุณแม่ คุณแม่อาจให้ลูกดูดจุกนมหลอก กอดลูกบ่อย ๆ หรืออุ้มลูกและร้องเพลงกล่อมไปด้วยเพื่อให้ลูกน้อยค่อย ๆ ชินกับกิจวัตรแบบใหม่ในที่สุด
การหย่านมก่อนลูกอายุครบ 1 ปี
ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด ทารกควรดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว จากนั้นให้ดื่มนมแม่ ดื่มนมผงหรือสลับกัน พร้อมกับให้ทานอาหารไปด้วยจนกว่าลูกน้อยจะอายุครบ 1 ปี
วิธีทำให้นมหมดเต้า
หากคุณแม่ตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ร่างกายหยุดผลิตนมสำหรับลูกน้อย สามารถทำได้ดังนี้
- หยุดแบบหักดิบ: คุณแม่สามารถหยุดให้นม และหยุดปั๊มนมทันที แต่ควรระวังเพราะการหยุดแบบหักดิบอาจทำให้เต้านมอักเสบได้ หากเจอปัญหานี้คุณแม่ปั๊มนมออกเล็กน้อยเพื่อลดความเต่งตึงของเต้าและบรรเทาความปวดเพียงเท่านั้น คุณแม่สามารถทานยาแก้ปวด หรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บเต้านมด้วยก็ได้
- ทานยา: คุณแม่สามารถทานยาบางชนิดเพื่อให้ร่างกายหยุดผลิตนม โดยควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาตัวเลือกที่เหมาะสม
- ใส่เสื้อชั้นในที่รัดแน่น: คุณแม่บางคนใช้การรัดหน้าอก หรือใส่เสื้อชั้นในที่รัดแน่นเพื่อลดการผลิตน้ำนม
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (17 พฤศจิกายน 2021)