วิตามินและอาหารเสริม
อาหารคนท้อง
แม้คุณแม่จะรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ก็อาจไม่ได้รับสารอาหารที่สำคัญอย่างครบถ้วน คุณหมอส่วนใหญ่จึงอาจแนะนำให้คุณแม่รับประทานวิตามินและอาหารเสริมในระหว่างตั้งครรภ์
ต่อไปนี้คือรายชื่อของวิตามินและอาหารเสริมที่คุณหมอมักแนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รับประทานเพิ่ม เพื่อให้คุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน
โฟเลตและกรดโฟลิก
โฟเลตเป็นวิตามินบีที่ช่วยป้องกันการเกิดความพิการหรือผิดปกติแต่กำเนิด ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด และการรับประทานกรดโฟลิกยังได้รับการยอมรับว่าช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยปริมาณที่แนะนำคือ: 400 ถึง 800 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูง คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานถึง 4 มิลลิกรัมต่อวัน
แคลเซียม
แคลเซียมช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้กับคุณแม่และลูกน้อย และยังช่วยทำให้การไหลเวียนของโลหิตในกล้ามเนื้อและระบบประสาทสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ปริมาณที่แนะนำคือ: 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นควรได้รับแคลเซียมปริมาณ 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามินดี
วิตามินดีช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกและฟันของลูกน้อยในครรภ์ ปริมาณที่แนะนำคือ: 600 หน่วยสากล (IU) ต่อวัน
โปรตีน
โปรตีนมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยอย่างมากตลอดระยะเวลาที่อยู่ในครรภ์ ปริมาณที่แนะนำคือ: 70 – 80 กรัมต่อวัน
ธาตุเหล็ก
ในขณะตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่ต้องการธาตุเหล็กเพื่อช่วยในการเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกายให้มากขึ้น เพื่อลำเลียงออกซิเจนไปให้แก่ลูกน้อยในครรภ์ และเพื่อป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากคุณแม่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยล้าได้ และภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อย และตัวคุณแม่เองยังเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอีกด้วย ปริมาณที่แนะนำคือ: 20 – 25 มิลลิกรัมต่อวัน
สิ่งที่ควรรับประทานอย่างระมัดระวัง
- อาหารเสริมประเภทสมุนไพร: ปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนรับประทาน เพราะอาหารเสริมประเภทสมุนไพรบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์
- วิตามินรวม: อย่ารับประทานวิตามินรวมในปริมาณความเข้มข้นสูง
- อาหารเสริมประเภทน้ำมันตับปลา
- วิตามินเอ
สิ่งที่ควรรู้
- คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารเสริมและวิตามินเพิ่มเป็นพิเศษ ในกรณีที่คุณแม่เป็นผู้รับประทานมังสวิรัติอย่างเข้มงวด หรือเคยได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน
- ก่อนรับประทานวิตามินเสริมควรสอบถามแพทย์ทุกครั้งเพื่อป้องกันการได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไป
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (2 กุมภาพันธ์ 2020)