ดาวน์โหลดแอป

อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 10

อาการคนท้องรายสัปดาห์

อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 10

ลูกกำลังเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของระยะตัวอ่อนแล้ว ข่าวดีสำหรับคุณแม่คือหลังจากสิ้นสุดระยะนี้ โอกาสในการแท้งบุตรจะลดลง

ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกกำลังเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของการเป็นตัวอ่อนแล้ว หลังจากนี้เขาจะเข้าสู่ระยะของการเป็นทารกและจะอยู่ในระยะนี้ไปจนถึงเวลาคลอด ตอนนี้ลูกมีความยาวประมาณ 3 ซม.และมีน้ำหนักประมาณ 4 กรัม หรือประมาณผลมะกอก

หัวใจของลูกจะมีอัตราการเต้นเร็วกว่าของคุณแม่ 2-3 เท่าและสามารถตรวจฟังเสียงหัวใจของเขาได้แล้ว ลูกเริ่มที่จะเคลื่อนไหวได้มากขึ้นและชัดเจนมากพอที่จะสามารถเห็นได้จากการทำอัลตร้าซาวด์แล้ว

อวัยวะเพศ: ถึงแม้จะมีความแตกต่างของอวัยวะเพศให้เห็นจากภายนอกได้บ้างแล้ว แต่นั่นยังไม่มากพอที่จะบอกได้ว่าลูกเป็นเพศอะไร แต่ถ้าลูกเป็นผู้ชายในตอนนี้ อัณฑะของเขาจะเริ่มผลิตฮอร์โมน Testosterone หรือฮอร์โมนเพศชายแล้ว

ร่างกาย: ใบหูของลูกเริ่มพัฒนาได้สมบูรณ์แล้ว ส่วนเปลือกตาของเขาเริ่มเห็นได้ชัดแต่จะยังคงปิดอยู่ กระดูกและกระดูกอ่อนกำลังสร้างอยู่ในขณะนี้ ส่วนโค้งที่ทำให้ขาของลูกดูงออยู่ในตอนนี้ เป็นที่หัวเข่ากำลังพัฒนา ข้อศอกถูกสร้างแล้วจึงทำให้ลูกสามารถงอแขนได้ ฟันซี่แรกของเขาที่ยังเป็นปุ่มเล็ก ๆ  ที่เรียกว่า หน่อฟัน หรือ Tooth bud ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ใต้เหงือก และกระเพาะอาหารก็สามารถผลิตน้ำย่อยได้แล้ว

คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ในช่วงตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายของคุณแม่อาจเพิ่มขึ้น 30%-50% หากคุณแม่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจมาก่อน ก็ควรจะระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ เพราะปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเช่นกัน

ตกขาวมากกว่าปกติ: ผลจากการที่ปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่อาจมีเส้นเลือดขอดและปริมาณตกขาวที่เพิ่มขึ้น แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลหากตกขาวนั้นมีลักษณะเป็นสีขาว บางใส ไม่มีกลิ่น แต่ถ้าตกขาวมีลักษณะที่เปลี่ยนไปเช่น สีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือมีลักษณะหนา จับตัวกันเป็นก้อน หรือมีอาการคันบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์

เส้นเลือดขอด: หนึ่งในผลกระทบจากการที่มีปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้น คือ เส้นเลือดขอด โดยมักเกิดที่บริเวณขา มีลักษณะเป็นเส้นเลือดบวมใหญ่ มีสีน้ำเงินหรือเขียวแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และอาจมีการแพร่กระจายในเส้นเลือดฝอยทำให้ดูเหมือนเป็นใยแมงมุม (spider vein)

แต่ทั้งนี้เส้นเลือดขอดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและอาจเกิดขึ้นที่บริเวณไหนของร่างกายก็ได้ ในคุณแม่บางรายอาจมีอาการเจ็บร่วมด้วย

ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
เนื่องจากปริมาณเลือดและการผลิตน้ำคร่ำนั้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงลูก น้ำจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก ดังนั้นคุณแม่จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีหรือมากกว่า หรือครอบครัวของคุณแม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมมาก่อน ในสัปดาห์นี้ คุณแม่ควรเริ่มคิดเรื่องการตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรม เพราะการตรวจจะสามารถทำได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 10 – 14 ของการตั้งครรภ์ และสามารถตรวจได้พร้อม ๆ กับวันที่แพทย์นัดมาอัลตราซาวด์อีกด้วย

สูตินรีแพทย์โดยส่วนใหญ่จะแนะนำให้คุณแม่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนเพราะวัคซีนเหล่านี้จะสามารถปกป้องคุณแม่และลูกจากการเจ็บป่วยในระหว่างการตั้งครรภ์ได้

โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน