ดาวน์โหลดแอป

อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 18

อาการคนท้องรายสัปดาห์

อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 18

ลูกจะสามารถได้ยินเสียงของคุณแม่ได้แล้วและคุณแม่เองก็สามารถได้ยินเสียงหัวใจของเขาเต้นผ่านหูฟังแพทย์ได้แล้วเช่นกัน

คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นเพราะตอนนี้ร่างกายอยู่ในช่วงที่ความดันโลหิตต่ำลง แต่ถ้าคุณแม่ยังพอมีแรงอยู่ก็สามารถเริ่มพูดคุยกับลูกหรือเล่านิทานให้เขาฟังได้

ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 200 กรัม ความยาวประมาณ 15 ซม. หรือประมาณเท่าพริกหยวก

เส้นประสาทและสมอง: เซลล์ประสาทเริ่มพัฒนาเยื่อหุ้มที่มีชื่อว่า Myelin ซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มเซลล์ประสาทเพื่อให้เซลล์ประสาททำงานได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาสมอง

หู: หูของลูกเริ่มยื่นออกมาจากศีรษะทั้งสองข้าง เขาจะเริ่มได้ยินเสียงแล้วแต่ยังคงไม่สามารถแยกความแตกต่างของเสียงได้

ใบหน้า: ดวงตาและใบหน้าของเขาเริ่มเคลื่อนออกมาข้างหน้ามากขึ้นจนเริ่มดูคล้ายกับลักษณะของคนทั่วไป

กระดูก: ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป กระดูกเล็ก ๆ ของลูกจะสามารถเห็นได้จากภาพอัลตราซาวด์แล้ว

อวัยวะสืบพันธุ์: รังไข่และอัณฑะมีโครงสร้างที่แตกต่างกันแต่จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ถุงไข่อ่อน(Primordial follicles) ในถุงเล็ก ๆ นี้จะมีเซลล์ Oogonium หรือ Primordial germ cell อยู่ภายใน ซึ่งสามารถแบ่งตัวและกลายเป็น ไข่ หรือ สเปิร์ม ได้ในภายหลัง

ปอด: องค์ประกอบสำคัญ ๆ ในปอดเริ่มสร้างแล้ว ยกเว้นส่วนที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ ทำให้เขายังไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง ถ้าเกิดกรณีที่ทารกคลอดออกมาในตอนนี้ เขาจะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้

คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
หนึ่งในอาการที่พบได้ในระยะนี้คือ ความดันโลหิตต่ำ เพราะระบบหมุนเวียนเลือดกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อไปหล่อเลี้ยงลูกในท้อง ส่งผลให้ปริมาณเลือดของคุณแม่ลดลงและเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยปกติแล้วความดันจะต่ำลงไปจนถึงกลางไตรมาสที่สองและจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากนั้น

อาการปวดท้อง: อาการปวดท้องในคนท้องถือเป็นเรื่องปกติและมีได้หลายสาเหตุ ทั้งท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือเส้นเอ็นขยายตัวเพื่อรองรับน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้น แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลเพราะอาการปวดท้องจะหายไปเองเมื่อคุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถ นอนพัก ขับถ่าย หรือขับลมไปแล้ว แต่ในบางกรณีอาการปวดท้องก็บ่งบอกถึงอันตรายได้เช่นกัน ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการปวดท้องเรื้อรัง เป็นตะคริวร่วมด้วย หรือรู้สึกเจ็บแบบเฉียบพลัน ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ทันที

อาการปวดหัว: คุณแม่บางท่านอาจมีอาการปวดหัวในช่วงตั้งครรภ์ ในบางครั้งอาการปวดหัวถือเป็นเรื่องปกติและไม่มีอันตรายอะไรถ้าอาการปวดนี้ไม่ได้รุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อย ๆ 

ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
เพื่อช่วยในการพัฒนาสมองของลูก คุณแม่สามารถลองเลือกทานอาหารประเภทปลาที่มี โอเมก้า 3 เป็นจำนวนมากอย่างใน ปลาแซลม่อน ทูน่ากระป๋อง หรือปลาขนาดเล็กที่มีปริมาณปรอทต่ำ

คุณแม่อาจมีความดันโลหิตต่ำในช่วงนี้ การเคลื่อนไหวให้ช้าลงจะทำให้คุณแม่สามารถรับมือกับอาการเหล่านี้ได้ดีขึ้น หลังจากอ่านบทความนี้จบก็อย่าลุกขึ้นเร็วจนเกินไปนะ

โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน