อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 20
อาการคนท้องรายสัปดาห์
สัปดาห์ที่ 20 ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการตั้งครรภ์ เพราะนั่นหมายความว่าคุณแม่และ ลูกได้เดินด้วยกันมาถึงครึ่งทางแล้ว
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 300 กรัม ความยาวประมาณ 25 ซม.หรือประมาณผลกล้วยลูกใหญ่
การนอน: ลูกเริ่มนอนหลับเป็นช่วงเวลาแล้ว และเวลามีเสียงดัง คุณแม่ขยับตัว หรือเวลาที่คุณแม่ทานอาหารหรือดื่มน้ำ ก็สามารถทำให้เขาตื่นได้
ลูกดิ้น: ถ้านี่เป็นท้องแรกของคุณแม่ คุณแม่อาจรู้สึกถึงการขยับตัว การเตะและต่อยของลูกได้เป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ ไม่มีตัวเลขกำหนดแน่นอนว่าคุณแม่จะต้องรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของเขาบ่อยแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือหากคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าลูกน้อยดิ้นแล้ว ก็จะรู้สึกไปเรื่อย ๆ ตลอดจนถึงวันคลอด
อวัยวะเพศ: กรณีที่คุณแม่มีลูกสาว ในสัปดาห์นี้มดลูกของเขาจะพัฒนาได้สมบูรณ์แล้ว และช่องคลอดจะเริ่มพัฒนาเป็นสิ่งต่อไป ในตอนนี้ลูกสาวจะมีเซลล์ไข่ตั้งต้นกว่าเจ็ดล้านใบอยู่ในรังไข่ แต่ถ้าเป็นในกรณีที่มีลูกชาย อัณฑะของเขาจะยังคงอยู่ในช่องท้องไปอีก 5-15 สัปดาห์ ถึงจะค่อย ๆ เคลื่อนผ่านท่อลงมาที่ถุงอัณฑะ ในเด็กผู้ชายมีโอกาส 2% – 4% ที่จะเกิดภาวะอัณฑะไม่ลงถุงหลังคลอด
การผลิตน้ำลาย: ต่อมน้ำลายที่มีชื่อว่าต่อม Parotid บริเวณด้านหน้าของหูทั้งสองข้าง จะเริ่มผลิตน้ำลายภายในสัปดาห์นี้ องค์ประกอบของน้ำลายกว่า 98% นั้นมาจากน้ำ และมีองค์ประกอบสำคัญอื่น ๆ อีกได้แก่ สารละลายที่แตกตัวเป็นประจุไฟฟ้า (Electrolytes) เอนไซม์ย่อยอาหาร และสารต้านเชื้อแบคทีเรีย น้ำลายนั้นจะทำงานร่วมกับระบบย่อยอาหารของลูกและรักษาสมดุลในช่องปาก
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ในระยะนี้เส้นขนและผมของคุณแม่อาจหนาขึ้น เล็บอาจแข็งขึ้น ในบางครั้งอาจมีเส้นขนขึ้นในบริเวณที่ไม่เคยขึ้นมาก่อน โดยปกติแล้วเส้นขนเหล่านี้จะหายไปเองหลังจากคลอด
การหายใจ: ขนาดครรภ์ที่โตขึ้นอาจไปเบียดพื้นที่ของปอด ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้นและอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจอื่น ๆ ตามมา
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
คุณแม่อาจจะฉลองให้กับการเดินทางของการตั้งครรภ์กับคุณพ่อของลูกและเพื่อน ๆ ก็ได้
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)