อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 21
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ลูกสามารถดูดนิ้วมือได้แล้ว ส่วนคุณแม่อาจมีปัญหาเหงือกบวมหรือปัญหาเกี่ยวกับเหงือกเพิ่มขึ้น
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 360 กรัม ความยาวประมาณ 27 ซม. หรือประมาณหัวแครอท
รก: ในสัปดาห์ที่ผ่านมารกนั้นมีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักตัวของลูก แต่ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป น้ำหนักตัวของเขาจะมากกว่าน้ำหนักของรกแล้ว
การดูดนิ้ว: ลูกพัฒนาพฤติกรรมการดูดนิ้วแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ขณะอัลตราซาวด์ คุณแม่อาจโชคดีได้เห็นเขาดูดนิ้วอยู่
ขนลานูโก: ร่างกายของลูกถูกปกคลุมไปด้วยขนบางและอ่อนนุ่มที่เรียกว่า ขนลานูโก(Lanugo) ขนนี้จะช่วยให้ไขสีขาวเกาะอยู่บนผิวได้ดีขึ้น และจะร่วงไปเองก่อนถึงเวลาคลอด
ไขปกป้องผิว: ผิวยังคงถูกปกคลุมไปด้วยไข Vernix caseosa หรือไขสีขาวที่จะช่วยปกป้องผิวไปจนถึงเวลาคลอดคุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
คุณแม่อาจยังคงมีอาการปวดหลัง ตัวบวม หรือมีเลือดออกตามไรฟัน
เหงือกและโรคเหงือกอักเสบ: ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เหงือกง่ายต่อการสะสมของแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ เลือดออกได้ หรือที่เรียกว่า เหงือกอักเสบ อาการเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องปากมากขึ้นและอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกในภายหลัง คุณแม่ควรหมั่นแปรงฟันและรักษาสุขภาพที่ดีของช่องปากเสมอ
อาการบวม: คุณแม่อาจรู้สึกว่าขาและเท้าบวมขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเย็น อาการนี้เรียกอีกอย่างว่า อาการบวมน้ำ(Edema) อาการบวมอาจรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ของเหลวในเส้นเลือดไหลเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อรอบ ๆ จนเกิดอาการบวม
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
การรักษาความสะอาดของเหงือกและฟันในช่วงตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งจำเป็น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับเหงือกคือการรักษาความสะอาดของช่องปากอย่างเป็นประจำ เช่นการแปรงฟัน เป็นต้น
พบทันตแพทย์: ในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ควรพยายามไปพบทันตแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพราะคลินิกทันตกรรมบางแห่งอาจไม่รับผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ในระยะท้าย ๆ หากคุณแม่กลัวการทำฟันมากเกินไปอาจทำให้การรักษายากขึ้นในภายหลัง ดังนั้นควรรีบไปตั้งแต่เนิ่น ๆ และต้องแน่ใจว่าทันตแพทย์ทราบว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ทันตแพทย์บางท่านอาจต้องการใบรับรองจากสูติแพทย์ของคุณแม่ เพราะการรักษาบางอย่างเช่น การรื้อวัสดุอุด Amalgam จะไม่แนะนำให้ทำในขณะตั้งครรภ์
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, 2016
- Fetal Development During Second Trimester, Mayo Clinic
- 21 Weeks Pregnant, Whattoexpect
- You and your baby at 21 weeks pregnant,National Health Service
- Teeth and Gums in Pregnancy, NHS
- Week 21 of Your Pregnancy, Verywell Family