อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 22
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ลูกใช้เวลากว่า 14 ชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อนอนหลับ และใช้เวลาที่เหลือกับการฝึกเคลื่อนไหว คุณแม่อาจมีอาการเจ็บบริเวณบั้นท้ายที่เรียกว่า ริดสีดวงทวาร
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 430 กรัมความยาวประมาณ 28 ซม.หรือประมาณผลมะม่วงไทย ในระยะนี้ลูกจะฝึกทักษะการควบคุมร่างกายโดยการจับที่ใบหน้า ลำตัว หรือสายสะดือ
ดวงตา: ดวงตายังคงพัฒนาอยู่ สีของม่านตาที่เป็นตัวทำให้ดวงตาของเขามีสีสันก็กำลังพัฒนาเช่นกัน
เส้นผม: เส้นผมของลูกจะขึ้นบนศีรษะในรูปแบบที่จะคงอยู่แบบนี้ไปตลอดชีวิต และยังสามารถมองเห็นคิ้วกับขนตาได้แล้ว
ไขมัน: ไขมันสีน้ำตาล หรือ เนื้อเยื่อไขมันเริ่มสร้างแล้ว ไขมันชนิดนี้จะปกป้องเขาจากอุณหภูมิร่างกายที่ต่ำลง เด็กทารกจะสูญเสียความร้อนในร่างกายได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ อุณหภูมิร่างกายที่ต่ำลงจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในทารกที่ยังเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์
ฮอร์โมน: ต่อมไทรอยด์(Thyroid) เริ่มทำงานตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว และจะผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ ๆ อย่าง ฮอร์โมน Thyroxine ที่ทำหน้าที่ควบคุมอัตราการเผาผลาญของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ และยังควบคุมการพัฒนาของสมอง ดังนั้นฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์จึงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับพัฒนาการของลูกทั้งก่อนและหลังคลอด ในสัปดาห์นี้ระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์อย่าง Thyroid-stimulating hormone และ Thyroxine จะเริ่มสูงขึ้นและจะสูงเทียบเท่ากับระดับฮอร์โมนในผู้ใหญ่เมื่ออายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์
อวัยวะเพศ: ในเพศชาย อัณฑะของเขาจะเริ่มเคลื่อนลงมาแล้ว
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
คุณแม่อาจยังมีอาการกรดไหลย้อนอยู่และอาจรู้สึกได้ถึงมือ เท้าที่บวมมากขึ้น
สะดือ: คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าสะดือจุ่นออกมาและเสียดสีกับเสื้อผ้า แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปเพราะสะดือที่จุ่นออกมานี้จะยุบกลับไปตำแหน่งเดิมเองหลังจากคลอด
ริดสีดวง: คุณแม่อาจมีตุ่มแดงที่ทำให้เกิดอาการเจ็บบริเวณบั้นท้ายหรือที่เรียกว่า ริดสีดวงทวาร อาการบวมบริเวณทวารหนักนี้มักทำให้เกิดอาการคันหรือเจ็บขณะอุจจาระ บางครั้งอาจเห็นรอยเลือดหรือเมือกเปื้อนออกมาได้ ริดสีดวงทวารนี้เกิดได้กับทุกคนแต่จะมีโอกาสเกิดได้ง่ายขึ้นในขณะตั้งครรภ์ เพราะฮอร์โมนตั้งครรภ์อย่างฮอร์โมน Progesterone จะไปคลายผนังหลอดเลือดและก่อให้เกิดการบวมได้ง่ายขึ้น
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
ผลจากอาการบวมและการขยายตัวของฝ่าเท้า ทำให้คุณแม่อาจจะอยากหารองเท้าใหม่ที่สามารถใส่ได้สบายขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากนี้
ดื่มน้ำและทานอาหารที่มีไฟเบอร์: คุณแม่สามารถป้องกันการเกิดริดสีดวงทวารและอาการอื่นๆในคนท้องได้ด้วยการ ดื่มน้ำเยอะ ๆ รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างพวก ขนมปังโฮลวีต ผัก และผลไม้
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)