อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 27
อาการคนท้องรายสัปดาห์
สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์สุดท้ายในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์แล้ว ในตอนนี้สมองของลูกจะเป็นส่วนที่พัฒนาได้เร็วกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
คุณแม่อาจมีอาการปวดข้อซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาของครรภ์
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
สมองของเขายังคงพัฒนาอย่างรวดเร็วและเตรียมควบคุมร่างกายทั้งหมดหลังคลอด ในตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 900 กรัม ความยาวประมาณ 38 ซม. หรือประมาณดอกกะหล่ำ
ระบบประสาท: ระบบประสาทของลูกพัฒนาเกือบจะสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีโอกาสอีกกว่า 10% ที่จะเกิดความผิดปกติทางสภาพจิตใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาของสมองที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ความเสี่ยงนี้จะลดลงไปมาก
ไขมัน: ลูกเริ่มสะสมไขมันในร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้ผิวดูเรียบขึ้น และแก้มก็จะเริ่มมีน้ำมีนวลขึ้น
ปุ่มรับรส: ปุ่มรับรสพัฒนาไปมากแล้วในตอนนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าลูกเริ่มที่จะแยกแยะรสชาติของน้ำคร่ำได้แล้ว ถ้าคุณแม่ทานอาหารที่มีรสเผ็ด เขาจะสามารถรับรู้ถึงรสชาติได้จากน้ำครำ่ ในทารกบางคนอาจตอบสนองต่อรสเผ็ดโดยการสะอึก
การสะอึก: การสะอึกเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของทารกในการควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจโดยสมอง ดังนั้นถ้าลูกสะอึกแปลว่านั่นเป็นสัญญาณที่ดี
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ลูกโตขึ้นเรื่อย ๆ และหน้าท้องของคุณแม่ก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน นั่นอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อย คุณแม่อาจรู้สึกปวดบริเวณหลังและกระดูกเชิงกราน สาเหตุมาจากฮอร์โมน Relaxin ที่จะไปทำให้ข้อต่ออ่อนตัวลงจนทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Symphysis pubis dysfunction(SPD)
Symphysis pubis dysfunction(SPD): SPD หรืออาการปวดบริเวณปลายหัวหน่าว มีสาเหตุมาจากการที่ฮอร์โมน Relaxin ทำให้เนื้อเยื่อเอ็นของกระดูกเชิงกรานหลวมและหย่อนยาน ส่งผลให้ปวดเวลาเคลื่อนที่ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อลูก แต่อาจทำให้คุณแม่ใช้ชีวิตลำบากขึ้น การรักษาที่มีในตอนนี้สามารถจัดการกับความเจ็บปวดได้แล้ว ดังนั้นคุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอได้หากมีอาการปวดบริเวณหัวหน่าว อุ้งเชิงกราน ฝีเย็บ หรือช่วงบริเวณหลังด้านล่างที่มีอาการคล้ายกับ SPD
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
เนื่องจากวันคลอดเริ่มใกล้เข้ามาแล้ว คุณแม่ควรลองเริ่มคิดถึงการเตรียมบ้านสำหรับลูก โดยอาจเตรียมเปลเด็กไว้ใกล้ ๆ เตียงคุณแม่ ล้างแอร์ หรือใช้ผ้าม่านเป็นสีเหลืองหรือสีที่สบายตา
Tdap vaccine: โดยปกติแล้ววัคซีน Tdap จะถูกให้ในสัปดาห์ที่ 27-36 ของการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันลูกไม่ให้ติดโรคไอกรนได้ก่อนที่เขาจะสามารถรับวัคซีนได้เองหลังจากคลอดครบ 2 เดือน โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อในระบบหายใจที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตในทารกแรกคลอด การรับวัคซีนจึงทำให้คุณแม่ผลิตสารภูมิคุ้มกันโรค และสารภูมิคุ้มกันนี้ก็จะถูกส่งต่อไปให้ลูกผ่านทางรก
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, 2016
- Health Outcomes for 28-Week Old Preemies, University of Utah
- Let Baby Hiccups Continue: Study Says There Are Benefits, University College London
- Fetal Development During Second Trimester, Mayo Clinic
- Get vaccinated while pregnant, CDC
- Which vaccines during pregnancy are recommended and which ones should I avoid?, Mayo clinic
- Pelvic pain in pregnancy, NHS