อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 3
อาการคนท้องรายสัปดาห์
คุณแม่อาจจะยังไม่สังเกตเห็นอาการหรือการเปลี่ยนแปลง แต่คุณแม่อาจกำลังตั้งครรภ์อยู่ ขอแสดงความยินดีด้วย!
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
อสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุด จะว่ายอย่างรวดเร็วไปพบกับเซลล์ไข่ของคุณแม่เพื่อทำการปฏิสนธิ แต่การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออสุจิทำการเจาะเปลือกของเซลล์ไข่สำเร็จ ส่วนใหญ่กระบวนการนี้มักจะเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่
ไซโกต: เซลล์ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิแล้วจะถูกเรียกว่า ไซโกต ไซโกตจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ลงไปสู่มดลูก ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 5 – 6 วันหลังจากการปฏิสนธิ
บลาสโตซิสท์: ในระหว่างที่ไซโกตกำลังเคลื่อนตัวลงไปสู่มดลูกนั้น ไซโกตจะเริ่มการแบ่งเซลล์ โดยเริ่มจากเซลล์เดียวเป็นสองเซลล์ จากสองกลายเป็นสี่ เป็น 8 16 32 เซลล์ และจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงวันที่ลูกพร้อมที่จะฝังตัวในผนังมดลูก ไซโกตที่แบ่งเซลล์และพร้อมจะฝังตัวที่มดลูกแล้วจะถูกเรียกว่า บลาสโตซิส
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
หากคุณแม่ได้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาของการไข่ตกพอดี นั้นหมายความว่าเซลล์ไข่อาจได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว หากเป็นเช่นนั้นร่างกายของคุณแม่จะเริ่มผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงลูกไปจนกว่ารกจะพัฒนาสมบูรณ์ในประมาณสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
การรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงจะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่เพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้ ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการใช้ในการผลิตเม็ดเลือด และยังช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกอีกด้วย นอกจากนี้คุณแม่ควรเน้นรับประทานโปรตีน เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้กับลูก
โปรดทราบ
ทางทีมMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ภายใน 4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์นั้นยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไป ถึงแม้ว่าการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้ามากในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังคงมีสิ่งที่ยังต้องศึกษาและค้นคว้าอีกมาก ดังนั้นทางทีมของเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)