อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 30
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ตอนนี้ลูกน่าจะพลิกตัวไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะต่อการคลอดตามธรรมชาติแล้ว
กำหนดคลอดที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกกังวล และประกอบกับการนอนที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลให้คุณแม่มีความฝันที่สมจริงเอามาก ๆ
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ในทุก ๆ วันร่างกายของเขาจะทำการสะสมไขมันเพิ่มเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กก. ความยาวประมาณ 40 ซม. หรือขนาดประมาณหัวไชเท้า
การแสดงอารมณ์ทางสีหน้า: ลูกเริ่มตอบสนองต่อรสขมด้วยการแสดงออกทางสีหน้าแล้ว นั่นหมายความว่ากระบวนการตอบสนองระหว่างปุ่มรับรสกับกล้ามเนื้อบนใบหน้าเริ่มทำงานแล้ว
ระบบภูมิคุ้มกัน: เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการออกมาสู่โลกภายนอก ลูกได้สร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมา โดยการนำสารภูมิคุ้มกันบางส่วนมาจากคุณแม่ เป็นที่เชื่อกันว่าระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ในที่ที่คุณแม่และลูกน้อยคุ้นเคย ดังนั้นบ้านจึงเป็นที่ที่ ปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกหลังคลอด
ตำแหน่งกลับหัว: ในเวลานี้ ทารกส่วนใหญ่น่าจะเริ่มพลิกตัวเพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการคลอดตามธรรมชาติแล้ว แต่ถ้าในกรณีที่ลูกไม่ยอมพลิกตัว คุณแม่อาจต้องเตรียมตัวสำหรับ การคลอดทารกท่าก้น ซึ่งคือการที่ทารกคลอดส่วนล่างของร่างกายออกมาก่อนศีรษะ จะมีคุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 3% – 5% ที่ตรวจเจอว่าลูกนั้นอยู่ในท่าคลอดทารกท่าก้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37-40 ซึ่งส่วนใหญ่คุณหมอจะให้ผ่าคลอดเพราะมีความปลอดภัยมากกว่าการคลอดตามธรรมชาติ
การมองเห็น: ดวงตายังคงพัฒนาอยู่และอยู่ในตำแหน่งปกติแล้ว ในตอนนี้เขายังมองเห็นได้ไม่ชัดนัก แต่สามารถเปิดตาได้แล้ว การมองเห็นจะดีขึ้นในช่วงที่ยังอยู่ในครรภ์ และจะพัฒนาเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ในระยะที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างของที่เคลื่อนที่เป็นแนวตั้งหรือแนวนอนได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
การสร้างเม็ดเลือดแดง: เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์นี้ ไขกระดูก ซึ่งเป็นของเหลวที่อยู่ภายในกระดูกจะพัฒนาได้สมบูรณ์จนสามารถทำหน้าที่หลักในการผลิตเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้แล้ว เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนที่ใช้หายใจ เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค ส่วนเกล็ดเลือดมีหน้าที่ทำให้เลือดแข็งตัว และป้องกันไม่ให้เลือดไหลเยอะจนเกินไปเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ในตอนนี้หน้าท้องของคุณแม่กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้การนอนหลับของคุณแม่ไม่ต่อเนื่องและไม่เป็นระบบ จนอาจทำให้ฝันบ่อยขึ้นและสามารถจำความฝันนั้นได้ดี รวมไปถึงความเครียดและความวิตกกังวลจากการตั้งครรภ์ที่อาจส่งผลให้ความฝันนั้นยิ่งดูน่ากลัว
คุณแม่สามารถปรึกษาเรื่องนี้กับคนรักหรือคุณหมอเพื่อระบายความกังวลใจลงไปบ้าง
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
เมื่อวันคลอดใกล้เข้ามาแล้ว คุณแม่อาจเตรียมพร้อมโดยการเริ่มอ่านหรือศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียน ทั้งด้านการพัฒนาของร่างกายและจิตใจ หนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดคือการทำความเข้าใจพัฒนาการของสมองของเขา
ช่วงสำคัญของการพัฒนาสมอง: ประสบการณ์ในช่วงแรกของลูกโดยเฉพาะช่วงสามปีแรกหลังจากคลอดจะเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ อุปนิสัย และสุขภาพของเขาตลอดทั้งชีวิต ในช่วงการพัฒนาสมองนี้ สมองของเขาจะทำการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทกว่าล้านเซลล์ในทุก ๆ วินาที
คุณแม่สามารถทำให้การพัฒนาสมองของเขาดียิ่งขึ้นด้วยการโต้ตอบกับเขาไปมา หรือที่เราเรียกว่า serve and return เมื่อลูกน้อยพูด ทำท่าทางหรือร้องไห้ ให้คุณแม่ตอบสนองเขาด้วยการมองตา ยิ้ม พูด หรือกอดเขาไว้ เพียงเท่านี้คุณแม่ก็สามารถช่วยพัฒนาสมองของเขาได้แล้ว
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- Pregnancy Dreams, American Pregnancy
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, 2016
- The Endowment for Human Development (EHD)
- How Pregnancy Can Affect Your Dream, Sleep Foundation
- Baby’s Brain Begins Now: Conception to Age 3, The Urban ChildInstitute
- Breech Birth, Wikipedia
- Serve and Return, Center on the Developing Child
- Fetal development: The 3rd trimester, Mayo Clinic