อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 31
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ลูกสามารถหันศีรษะได้แล้ว และอาจหันเพื่อตอบสนองต่อเสียงของคุณแม่ก็ได้ ในตอนนี้ ถ้าคุณแม่มีอาการ Broxton-Hicks contraction หรืออาการปวดบีบแบบหลอกอยู่ อาจปวดยาวนานขึ้นถึง 30 วินาที
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกพัฒนาอวัยวะที่สำคัญ ๆ ได้สมบูรณ์แล้ว ในตอนนี้เขาจะมีน้ำหนักประมาณ 1.6 กก. ความยาวประมาณ 41 ซม. หรือขนาดประมาณผลมะละกอ
ดวงตาและปอด: ดวงตาของเขาสามารถจับโฟกัสภาพได้แล้ว แต่ปอดยังคงอยู่ในช่วงพัฒนา และในเร็ว ๆ นี้เขาจะสามารถหายใจได้ด้วยตนเองแล้ว
ข้อต่อที่คอ: ข้อต่อบริเวณคอของลูกเริ่มมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะให้เขาแทรกตัวออกมาตอนคลอดได้แล้ว
น้ำหนักตัว: ในสัปดาห์นี้ น้ำหนักตัวของลูกจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่ผ่านมาเนื่องมาจากการสะสมของไขมันและน้ำหนักตัว และยังมีปริมาณน้ำคร่ำ เลือดในร่างกาย และสายรกที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
พฤติกรรมการดูด: ลูกได้พัฒนาพฤติกรรมการดูดและเขาสามารถดูดนิ้วตัวเองได้แล้วในตอนนี้ พฤติกรรมการดูดจะช่วยให้เขาสามารถดูดนมแม่ได้เมื่อคลอดออกมา ถ้าทารกคลอดก่อนกำหนด ความสามารถในการดูดของเขาอาจไม่แข็งแรงพอที่จะดูดนมแม่ได้ จึงอาจต้องใช้สายยางให้อาหารทางจมูกแทน
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
อาการเจ็บหลอกในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์นั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการเจ็บหลอกนี้มากกว่าสี่ครั้งในหนึ่งชั่วโมง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนด คุณแม่จะต้องติดต่อคุณหมอทันทีที่มีอาการ อาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนดได้แก่ รู้สึกถึงแรงดันบริเวณมดลูก ตกขาวมีลักษณะเป็นเลือด หรือปวดบริเวณช่วงหลังส่วนล่าง
อาการอื่น ๆ ที่คุณแม่สามารถพบได้ในช่วงนี้ได้แก่
- ปัญหาการนอนหลับ
- มีรอยแตกลายตามร่างกาย
- ริดสีดวง
- อาการบวมและเลือดออกตามไรฟัน
- อาการปวดจากข้างที่ลูกกระแทก (ปวดเอ็นยึดมดลูก) ที่มีสาเหตุมาจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
เพราะในชีวิตจริงไม่มีคู่มือที่แน่นอนสำหรับการเป็นพ่อแม่ ดังนั้นคุณแม่จึงสามารถใช้เวลานี้ในการศึกษาวิธีการเลี้ยงลูกในแบบต่าง ๆ และเชื่อสัญชาตญาณของตัวเองว่าวิธีการเลี้ยงลูกแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด คุณแม่อาจจะอยากลองศึกษาวิธีการเลี้ยงลูกแบบ การเลี้ยงลูกแบบผูกพัน
การเลี้ยงลูกแบบผูกพัน: วิธีการนี้จะเน้นให้ลูกเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความผูกพันระหว่างคุณแม่กับลูกให้ดียิ่งขึ้น วิธีการคือคุณแม่จะต้องตอบสนองเขาเมื่อเขาต้องการ โดยการสวมใส่เสื้อผ้าให้เขา หรือนอนกับเขา มีทฤษฎีกล่าวไว้ว่าเมื่อลูกมีความผูกพันที่แน่นแฟ้นและไว้วางใจในตัวคุณแม่ ในอนาคตเขาจะมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวของตัวเองและมีปัญหาด้านการสร้างความสัมพันธ์น้อยลง และยังมีความเครียดต่ำส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นอีกด้วย
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, 2016
- The 4 Principles of Attachment Parenting and Why They Work, Psychology Today
- The Science of Attachment Parenting, Parenting Science
- Fetal development: The 3rd trimester, Mayo Clinic
- What is sucking reflex, Healthline