อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 33
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ในตอนนี้ลูกสามารถเปิดตาตอนตื่นและหลับตาตอนหลับได้แล้ว
เพราะลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ครรภ์ของคุณแม่เองก็ใหญ่ขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน คุณแม่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังเวลาเคลื่อนไหวเพื่อไม่ให้ชนกับคนหรือสิ่งของอื่น ๆ
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 2 กก. ความยาวประมาณ 43 ซม. หรือประมาณผลสับปะรด และตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ลูกน้อยจะเริ่มมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 225 กรัมต่อสัปดาห์ไปจนกว่าจะคลอด
ดวงตา: ม่านตาเริ่มปรับเปลี่ยนขนาดเพื่อตอบสนองต่อแสง ลูกสามารถมองแสงสว่าง เช่น แสงแดด หรือแสงจากไฟฉายได้แล้ว และเขาจะเริ่มลืมตาในขณะตื่นได้แล้ว
ความยืดหยุ่นของกะโหลกศีรษะ: ในขณะที่กระดูกส่วนอื่นกำลังแข็งแรงขึ้น แต่กะโหลกศีรษะจะยังคงอ่อนตัวและยังคงแยกห่างจากกันจนคลอด เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนศีรษะผ่านทางช่องคลอดและยังเป็นการปกป้องสมองอีกด้วย ช่องระหว่างกะโหลกที่ยังไม่ปิดสนิทนี้เรียกว่า Fontanels
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ด้วยขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นอาจส่งผลให้คุณแม่รู้สึกไม่คุ้นเคยกับขนาดตัว ทำให้คุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้หน้าท้องไปชนกับอะไรเข้า
คุณแม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติโดยไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อลูก
คุณแม่บางท่านอาจมีปัญหาในการนอนหลับในช่วงไตรมาสที่สามนี้ เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนในร่างกันนั้นสูงขึ้น มีความรู้สึกกระสับกระส่ายมากขึ้น และหาท่านอนที่สบาย ๆ นั้นจัดแจงได้ยากมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นการพักผ่อนก็ยังสำคัญมาก คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
เมื่อคุณแม่เริ่มรู้สึกได้ถึงการดิ้นของลูก คุณแม่สามารถลองนับดูว่าลูกดิ้นบ่อยเท่าใด ซึ่งอาจจะนับตอนหลังกินข้าวเช้าหรือข้าวกลางวันก็ได้ เพราะการดิ้นของลูกสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของเขาได้ว่าแข็งแรงแค่ไหน
เดินท่ามกลางแสงแดด: คุณแม่สามารถออกไปข้างนอกเพื่อให้ลูกได้รับแสงธรรมชาติบ้าง แสงอาทิตย์จะช่วยพัฒนาการมองเห็น และยังช่วยเพิ่มวิตามินดีให้กับทั้งคุณแม่และลูกอีกด้วย แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฉายส่องไปที่หน้าท้องเพราะแสงจากไฟฉายนั้นสว่างเกินไปและอาจทำให้ลูกรู้สึกเครียดได้
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, 2016
- Pregnancy and Baby Guide, National Health Service
- The Endowment for Human Development (EHD)
- Light exposure during pregnancy key to normal eye development
- Pregnancy-33 to 36 weeks
- Fetal development: The 3rd trimester, Mayo Clinic