อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 37
อาการคนท้องรายสัปดาห์
อวัยวะทุกระบบในร่างกายของ ลูก ถูกพัฒนาจนสมบูรณ์ ทำให้เขาพร้อมที่จะออกมาลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัยแล้ว ในขณะเดียวกันคุณแม่อาจมีเลือดปนออกมากับตกขาวได้
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ในสัปดาห์นี้ลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 2.6 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 48 เซนติเมตร ขนาดประมาณลูกทุเรียน ช่วงนี้ถือว่าเจ้าตัวน้อยใกล้ครบกำหนดคลอดแล้ว เนื่องจากร่างกายของเขาได้พัฒนาเต็มที่ พร้อมที่จะใช้ชีวิตอยู่นอกครรภ์คุณแม่แล้ว ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับลูกว่าเขาจะอยากออกมาเมื่อไรเท่านั้น
ปอดพร้อมหายใจ: ลูกยังคงฝึกหายใจด้วยน้ำคร่ำต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับปอดของเขาก่อนที่จะออกมาสูดอากาศภายนอกเร็ว ๆ นี้
ท่าทาง: ตอนนี้ ลูกอาจกำลังอยู่ในท่ากลับหัว และกำลังค่อย ๆ เคลื่อนตัวลงมาในบริเวณอุ้งกระดูกเชิงกรานของคุณแม่ เป็นสัญญาณว่าเขาพร้อมคลอดแล้ว
ระบบประสาทอัตโนมัติ: ระบบประสาทอัตโนมัติของลูกพัฒนาได้สมบูรณ์มากขึ้น รวมไปถึงการตอบสนองด้วยการกำมือ หากคุณแม่ลองวางนิ้วลงบนฝ่ามือของลูกได้ เขาจะจับไม่ปล่อยเลยทีเดียว
ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์: ตอนนี้ลูกน้อยสามารถหลั่งฮอร์โมนไทรอกซิน ฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการควบคุมระบบเผาผลาญ และการพัฒนาของสมอง ซึ่งตอนนี้มีปริมาณพอ ๆ กับผู้ใหญ่แล้ว
การขับถ่ายครั้งแรก: ลูก จะขับถ่ายครั้งแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่เขาคลอดออกมา โดยอุจจาระนี้มีลักษณะเป็นสีเขียวเข้ม หรือที่เรียกว่าขี้เทา
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด สัญญาณหนึ่งที่บอกได้คือปากมดลูกของคุณแม่จะมีลักษณะนุ่มขึ้น บางลง และเปิดขยายมากขึ้น แต่คุณแม่จะไม่สามารถรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ดังนั้นในการนัดพบแพทย์ครั้งถัดไป คุณหมออาจต้องทำการตรวจภายในด้วยนิ้วมือ เพื่อช่วยในการประเมินกำหนดคลอดของคุณแม่
ตกขาว: ปากมดลูกกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด โดยการเปลี่ยนลักษณะให้บางลงและขยายกว้างขึ้น ส่งผลให้เส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงบริเวณปากมดลูกเกิดการฉีกขาด เป็นสาเหตุทำให้คุณแม่มีเลือดปนออกมากับตกขาวได้
สิ่งที่สามารถทำได้
คุณแม่อาจจะเริ่มหาข้อมูลหรือวางแผนเกี่ยวกับการให้นมลูก เพื่อจัดหาซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น เตรียมพร้อมก่อนที่ลูกจะคลอด
การให้นมแม่ด้วยขวดนม: นมแม่นั้นไม่มีต้นทุนใด ๆ และยังมีสารอาหารที่เหมาะสมและครบถ้วนเพียงพอสำหรับลูก นอกจากนี้ยังมีภูมิคุ้มกันช่วยปกป้องลูกจากโรคภูมิแพ้ และโรคต่าง ๆ ซึ่งนมผงไม่สามารถทำได้ หากคุณแม่ไม่สะดวกให้ลูกดูดนมจากเต้าบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน คุณแม่อาจปั๊มนมเก็บใส่ช่องแช่แข็งเอาไว้ และให้ลูกดื่มจากขวดนมได้
ปัญหาของการให้นมแม่: หากคุณแม่มีปัญหาเกี่ยวกับการให้นมบุตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน คุณแม่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้นมบุตรโดยเร็วที่สุด เพื่อรับคำแนะนำและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, Elsevier Publishing, 2016
- The Endowment for Human Development (EHD)
- Pregnancy Week 37, American Pregnancy Association
- Breast-Feeding vs. Formula-Feeding: What's Best?, Mayo Clinic
- Benefits of Breastfeeding, NHS
- Breastfeeding Problems, NHS
- Failure to pass meconium: Diagnosis neonatal intestinal obstruction
- Pregnancy -37 to 40 weeks, Pregnancy, Birth and Baby
- Fetal development: The 3rd trimester, Mayo Clinic