อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 39
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ขอแสดงความยินดีด้วย! ตอนนี้ลูกมีอายุครรภ์ครบกำหนดแล้ว! ตอนนี้คุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นให้ลูกอยู่ในท่าพร้อมคลอดได้โดยการเดินออกกำลังกายช้า ๆ
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ในสัปดาห์นี้ลูกจะกลายเป็นทารกที่มีอายุครรภ์ครบกำหนดแล้ว
ลูกสามารถได้ยินเสียงคุณแม่: ตอนนี้ลูกสามารถจดจำเสียงของคุณแม่ได้ และสมองของเขาก็กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และจะยังพัฒนาต่อไปหลังคลอด
ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา: ตอนนี้ต่อมน้ำตาของลูกได้รับการพัฒนาเต็มที่แล้ว แต่ท่อน้ำตายังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเวลาที่ลูกร้องไห้จะยังไม่มีน้ำตาไหลออกมา อาจต้องใช้เวลาถึง 2 – 3 เดือนกว่าที่ลูกจะร้องไห้แล้วมีน้ำตา
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ขนาดประมาณลูกแตงโมผลเล็ก
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้คุณแม่อยู่ในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่อาจมีตกขาวปริมาณมากขึ้น และจากการที่ปากมดลูกกำลังขยายตัวเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด อาจทำให้มีเลือดปนออกมากับตกขาวด้วย
ตอนนี้ลูกกำลังเคลื่อนตัวต่ำลงมาใกล้บริเวณปากมดลูกมากขึ้น อาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหลังมากขึ้น และรู้สึกมีแรงดันที่ท้องส่วนล่างเพิ่มมากขึ้น
ควรไปพบคุณหมอหากคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอด โดยมักจะมีอาการเจ็บครรภ์นานประมาณ 60 วินาที โดยแต่ละรอบปวดห่างกันประมาณ 5 นาที หรือรู้สึกอาการปวดเริ่มถี่ขึ้น
ในช่วงที่คุณแม่กำลังรอการคลอด ควรคอยสังเกตลูกดิ้นเสมอ หากลูกเริ่มดิ้นน้อยลงหรือเตะน้อยลง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์หรือแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้
หากคุณหมอเตือนว่าลูกเริ่มตัวใหญ่เกินไป คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลเพื่อป้องกันไม่ให้ทารกตัวใหญ่มากเกินไป
เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับสัปดาห์แรก: สัปดาห์แรกหลังคลอดมักจะเป็นช่วงที่ยุ่งที่สุด ดังนั้นคุณแม่จึงควรเตรียมบ้าน เตรียมอุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการใช้งานเมื่อลูกกลับมาถึงบ้าน ในช่วงแรกของชีวิตลูกอาจร้องไห้บ่อยมาก ๆ แต่ขอให้คุณแม่เข้าใจว่าก่อนที่ลูกจะพูดได้ การร้องไห้เป็นวิธีเดียวที่เขาจะสามารถสื่อสารกับคุณแม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความไม่สบายตัวหรือความต้องการอื่น ๆ ดังนั้นคุณแม่จึงควรเตรียมหาวิธีการรับมือ หรือ การปลอบประโลมเขาเมื่อเขาร้องไห้
เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก: คุณแม่อาจใช้เวลาว่างศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก
การลงโทษอาจหยุดพฤติกรรมแย่ ๆ ได้ทันที แต่การลงโทษไม่สามารถสอนให้ลูกน้อยเรียนรู้ว่าควรทำตัวอย่างไร เด็กเล็กยังไม่สามารถเรียนรู้จากอารมณ์โกรธเคืองของพ่อแม่เพื่อนำไปปรับพฤติกรรมของตนเองได้ นอกจากนี้ควรคำนึงเสมอว่าการจะสอนให้ลูกเรียนรู้การควบคุมตัวเองได้นั้น เขาต้องมีสมองส่วนหน้าที่พัฒนาเต็มที่ก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียว
การลงโทษอาจทำร้ายลูกน้อยมากขึ้นไปอีกเพราะจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูก ดังนั้นน่าจะดีกว่าหากมีวิธีอื่นในการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความรับผิดชอบ ด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กมากมายแนะนำให้ใช้วิธีเลี้ยงลูกเชิงบวกในการเลี้ยงดูพวกเขา
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- The Endowment for Human Development (EHD)
- Third Trimester, NHS
- Parenting Without Punishment: A Humanist Perspective, Part 1, Psychology Today
- Why Punishment Doesn’t Work, Evolutionary Parenting
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, Elsevier Publishing, 2016