อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 4
อาการคนท้องรายสัปดาห์
เมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิฝังตัวที่ผนังมดลูก ร่างกายของคุณแม่จะเริ่มหลั่งฮอร์โมนตั้งครรภ์ ทำให้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์อาจสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้แล้ว 😉
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกมีขนาดประมาณเมล็ดป๊อปปี้หรือที่ในทางการแพทย์เรียกว่า บลาสโตซิสท์ ซึ่งในตอนนี้ลูกได้เดินทางจากท่อนำไข่มาจนถึงมดลูกของคุณแม่แล้ว
การแบ่งเซลล์: เมื่อการแบ่งเซลล์เสร็จสมบูรณ์ เซลล์จะถูกเรียกว่า บลาสโตซิสท์ เป็นเซลล์ที่พร้อมที่จะฝังตัวลงในผนังมดลูก เมื่อการฝังตัวสำเร็จ เซลล์จะแบ่งตัวออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ เซลล์ชั้นใน ส่วนที่จะถูกพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน และเซลล์ชั้นนอก ส่วนที่จะยังทำการแบ่งเซลล์ไปเรื่อย ๆ เพื่อทำการเชื่อมต่อกับเส้นเลือดของคุณแม่ ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะกลายมาเป็นรกในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าและยังทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมน เอชซีจี (hormone hCG) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์อีกด้วย ซึ่งฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้
เซลล์สามชั้น: หลังจากการฝังตัวลงในผนังมดลูกบลาสโตซิสท์จะถูกเรียกว่าตัวอ่อน และในปลายสัปดาห์นี้ตัวอ่อนจะแบ่งตัวกลายเป็นเซลล์สามชั้น โดยชั้นนอกสุดจะเป็นส่วนที่พัฒนาไปเป็นสมอง กระดูกสันหลัง ไขสันหลังและเส้นประสาทของลูก นอกจากนี้ผิวหนัง เส้นผมและเล็บยังถูกพัฒนามาจากเซลล์ชั้นนี้อีกด้วย เซลล์ชั้นกลางเป็นชั้นที่กระดูกรยางค์ กล้ามเนื้อ หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดถูกสร้างขึ้น ส่วนเซลล์ชั้นในสุดจะเจริญไปเป็นปอด ลำไส้และระบบขับถ่ายปัสสาวะ
เนื่องจากรกยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์ลูกจึงจะได้รับสารอาหารจากถุงไข่แดงของคุณแม่ไปก่อนในช่วงนี้
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ถึงแม้ในตอนนี้คุณแม่อาจยังไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของคุณแม่ในตอนนี้
ผลกระทบจากฮอร์โมน: หากคุณแม่มีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลง คุณแม่อาจเริ่มมีอาการของการตั้งครรภ์แล้ว เช่น ท้องอืด เป็นตะคริว หรืออารมณ์แปรปรวน โดยอาการเหล่านี้เกิดจากร่างกายของคุณแม่มีการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ตะคริว: คุณแม่อาจมีอาการตะคริวและมีเลือดออกกะปริดกะปรอย สาเหตุนั้นมาจากลูกได้ฝังตัวลงในผนังมดลูกของคุณแม่ และจากการที่ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น คุณแม่อาจมีตกขาวได้
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
คุณแม่อาจใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ลองทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง เพราะในตอนนี้ระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hormone hCG) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ของคุณแม่สูงมากพอที่ชุดทดสอบการตั้งครรภ์สามารถตรวจจับการตั้งครรภ์ได้แล้ว แต่หากผลการตั้งครรภ์เป็นลบ คุณแม่อาจต้องทำการตรวจซ้ำอีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลังหรือหลังจากวันครบกำหนดรอบเดือนในเดือนถัดไป
นัดพบคุณหมอครั้งแรก: หากผลตรวจการตั้งครรภ์เป็นบวก คุณแม่อาจนัดคุณหมอเพื่อทำการฝากครรภ์ แต่สูตินรีแพทย์หรือนรีแพทย์บางท่านอาจบอกให้คุณแม่รอให้ตั้งครรภ์ครบ 6 – 8 สัปดาห์ จึงค่อยกลับมาฝากครรภ์อีกครั้ง
โปรดทราบ
ทางทีมMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ภายใน 4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์นั้นยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไป ถึงแม้ว่าการแพทย์จะพัฒนาก้าวหน้ามากในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังคงมีสิ่งที่ยังต้องศึกษาและค้นคว้าอีกมาก ดังนั้นทางทีมของเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)