อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 40
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ด้วย เพราะตอนนี้ลูกได้เติบโตจนมีร่างกายที่สมบูรณ์แล้ว และเขาพร้อมแล้วที่จะออกมาเจอคุณแม่
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ในตอนนี้ ลูกพร้อมแล้วสำหรับการคลอด เล็บและผมของเขาจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ ปอดเองก็ยังพัฒนาอยู่ และยังมีการสะสมไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
รูปร่างของศีรษะ: ศีรษะของลูกยังคงเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายที่จะผ่านช่องคลอด เพราะฉะนั้นเพื่อให้การคลอดเป็นไปได้ง่ายขึ้น ธรรมชาติจึงสร้างให้กะโหลกศีรษะของทารกในครรภ์ยังคงแยกกันอยู่ เพื่อที่จะได้บีบตัวผ่านช่องคลอดออกมาได้สะดวก ทำให้หลังคลอดศีรษะของลูกอาจจะมีรูปร่างคล้ายกรวย ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในภายหลัง
เสียงที่คุ้นเคย: ไม่มีเสียงไหนที่จะดึงดูดความสนใจของลูกได้ดีเท่ากับเสียงของคุณแม่ และที่น่าสนใจคือเขาจะเรียนรู้จากเสียงของคุณแม่ในช่วงนี้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรพยายามพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ หลังคลอด และเสียงของคุณแม่ยังสามารถทำให้เขาสงบลงได้อีกด้วย
ไขมันยังคงเพิ่มขึ้น: ปริมาณของไขมันสีขาวในตอนนี้อยู่ที่ 16% ของน้ำหนักตัว และในช่วงสัปดาห์สุดท้าย ลูกจะสะสมไขมันในร่างกายเพิ่มอีกประมาณ 14 กรัมในทุก ๆ วัน
ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 3-3.5 กก. ความยาวประมาณ 50 ซม. หรือประมาณผลขนุน
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ปากมดลูกของคุณแม่จะยังคงขยายตัวและบางลงเรื่อย ๆ คุณแม่จะยังรู้สึกถึงการบีบตัวของมดลูกไปตลอดจนถึงเวลาคลอด คุณแม่ควรที่จะคอยสังเกตอาการของตัวเองเอาไว้ และอาการปวดหลังจะยังมีอยู่ คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ และอดทนอีกสักหน่อย อีกไม่นานคุณแม่ก็จะได้เจอลูกแล้ว
แต่ถ้าภายในสัปดาห์นี้ คุณแม่ยังไม่คลอด คุณหมออาจแนะนำวิธีกระตุ้นร่างกายเพื่อให้เกิดการคลอดได้
ถึงอย่างนั้น โดยปกติแล้วคุณหมอจะไม่ได้แนะนำให้กระตุ้นให้เกิดการคลอด นอกเสียจากว่าคุณแม่หรือลูกเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการตั้งครรภ์เป็นเวลานาน หรือลูกมีขนาดตัวที่ใหญ่เกินไป
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
คุณแม่สามารถลองปรึกษาคุณหมอว่าหลังคลอดจะมีการทำอะไรบ้าง
ห้ามรบกวนในชั่วโมงแรก: หลาย ๆ โรงพยาบาลในอเมริกา อังกฤษ และเยอรมันเริ่มที่จะทำการนำลูกไปพักที่อกแม่หลังจากคลอด เพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับลูก และเป็นการเริ่มให้นมไปด้วย ซึ่งนโยบายนี้ถูกเรียกว่า ห้ามรบกวนในชั่วโมงแรก
ใช่ช่วงเวลานี้ ประมาณ 1-2 ชั่วโมงหลังคลอด ที่ลูกจะได้อยู่กับคุณแม่ ก่อนที่จะถูกพาไปอาบน้ำและตรวจร่างกาย ถึงแม้การปฏิบัติแบบนี้จะยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศในแถบเอเชีย แต่คุณแม่สามารถลองปรึกษากับคุณหมอดูว่าพอจะสามารถมีช่วงเวลาพิเศษนี้กับลูกได้หรือไม่
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)
ที่มา:
- The Endowment for Human Development (EHD)
- Pregnancy week by week, 40 weeks pregnant
- Keith Moore, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology, 10th Edition, Elsevier Publishing, 2016
- Is it? Normal for my baby to cry without tears
- The ‘Golden Hour:’ Giving Your Newborn the Best Start, Stanford Health