อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 41
อาการคนท้องรายสัปดาห์
จนถึงสัปดาห์นี้ หากคุณแม่ยังไม่คลอดนั้นไม่ได้บ่งบอกถึงความผิดปกติใด ๆ และแน่นอนว่าลูกกำลังมีความสุขกับการอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ช่วงนี้คุณแม่อาจเจ็บท้องคลอดได้ทุกเมื่อ โดยอาจช่วยกระตุ้นการเจ็บท้องคลอดได้โดยการออกไปเดินเล่นให้นานขึ้น
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ร่างกายของลูกได้พัฒนาจนสมบูรณ์แล้วและกำลังเพิ่มน้ำหนักตัวไปเรื่อย ๆ โดยทางการแพทย์เรียกทารกที่ยังไม่คลอดในสัปดาห์นี้ว่า “ทารกที่คลอดช้ากว่ากำหนด”
การตรวจประเมินสุขภาพทารก: คุณหมออาจให้คุณแม่ทำการตรวจเพื่อประเมินสุขภาพของลูกในครรภ์ ซึ่งวิธีในการตรวจประเมินสามารถทำได้หลายวิธีได้แก่ การใช้เครื่องตรวจการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (electronic fetal monitoring หรือเครื่อง EFM) การตรวจประเมินการบีบรัดตัวของมดลูกและการดิ้นของทารก ( non-stress test หรือ NST) หรือการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงร่วมกับการตรวจ NST โดยประเมินองค์ประกอบ 5 ส่วนได้แก่ การหายใจ การเคลื่อนไหว การตึงตัวของกล้ามเนื้อ ปริมาณน้ำคร่ำ และ NST โดยอาจต้องทำการตรวจในทุก ๆ สัปดาห์ ทั้งนี้ความถี่ในการตรวจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
อวัยวะเพศ: เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่ อวัยวะเพศของลูกน้อยอาจดูบวมเมื่อแรกคลอด แต่อวัยวะเพศก็จะกลับมามีขนาดปกติได้ในไม่ช้า
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ในตอนนี้หากการตั้งครรภ์ไม่ได้มีความเสี่ยงหรือส่งผลกระทบใด ๆ ต่อคุณแม่และลูก ทำให้ยังคงสามารถรอให้กระบวนการคลอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้
การถ่างขยายปากมดลูก: หากคุณแม่เคยคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมาก่อน และมีสัญญาณใกล้คลอดแล้ว คุณหมออาจจะกระตุ้นกระบวนการคลอดตามธรรมชาติให้เกิดเร็วขึ้น โดยการใช้นิ้วถ่างขยายบริเวณปากมดลูก หรืออาจจะทำการเจาะถุงน้ำคร่ำด้วยนิ้วหรือเครื่องมือ แต่กระบวนการเหล่านี้จะทำก็ต่อเมื่อคุณแม่อยู่ในโรงพยาบาล และภายใต้ความดูแลของแพทย์ตั้งแต่เริ่มตลอดจนคลอดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม คุณแม่อาจมีอาการของไตรมาสที่สามอยู่บ้าง เช่น อ่อนเพลีย อาการบวม และท้องผูก คุณแม่อาจไปเดินเล่นเพื่อช่วยบรรเทา เนื่องจากการเดินจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จริง ๆ แล้วการไปเดินเล่นเป็นเวลานานขึ้น และการขยับตัวบ่อย ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นกระบวนการคลอดตามธรรมชาติ ทำให้ลูกออกมาเจอคุณแม่เร็วขึ้น
สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้
หากคุณแม่ยังคงไม่คลอดในสัปดาห์นี้ คุณแม่ควรไปพบคุณหมอหรือแพทย์ผดุงครรภ์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
เด็กทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์ 41 สัปดาห์ขึ้นไปอาจมีขนาดตัวใหญ่ ทำให้คลอดตามธรรมชาติได้ยากขึ้น หลังจากสัปดาห์นี้หากยังคงไม่มีวี่แววของกระบวนการคลอดตามธรรมชาติ คุณหมออาจแนะนำเรื่องของการเร่งคลอดโดยการใช้ยาหรือวิธีต่าง ๆ หรือการผ่าตัดคลอดในกรณีฉุกเฉิน
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)