ดาวน์โหลดแอป

อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 7

อาการคนท้องรายสัปดาห์

อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 7

ศีรษะของลูกจะมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เนื่องจากสมองของลูกกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

สำหรับคุณแม่ในสัปดาห์นี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างลำบาก และอาจรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยมากขึ้น

ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ลูกมีความยาวประมาณ 1 ซม. หรือมีขนาดประมาณลูกบลูเบอร์รี่ ร่างกายส่วนล่างของเขากำลังเริ่มที่จะพัฒนา มือและเท้าของเขาในตอนนี้เป็นเหมือนปุ่มเล็ก ๆ ที่เพิ่งงอกออกมาจากลำตัว ในช่วงนี้ศีรษะของลูกจะเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายของเขาที่ที่ หู ตา จมูก ปาก และลิ้นกำลังเริ่มพัฒนาขึ้น

พัฒนาการการเจริญเติบโตของลูกในสัปดาห์นี้จะเน้นที่ศีรษะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีเซลล์สมองใหม่ถูกพัฒนาถึง 100 เซลล์ต่อนาที

สายสะดือ: ในสัปดาห์นี้ สายสะดือของลูกกำลังพัฒนาแล้ว สายสะดือจะเชื่อมต่อระหว่างลูกกับรก เพื่อทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนและสารอาหารจำเป็น รวมไปถึงกำจัดของเสียโดยการขนส่งกลับมาสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของคุณแม่ หากไม่มีปัญหาอะไร ในอีก 33 สัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นเวลาที่ลูกครบกำหนดคลอดและสายสะดือนี้ก็จะถูกตัด

แขนและขา: นอกจากศีรษะแล้ว ร่างกายส่วนอื่น ๆ ของลูกกำลังพัฒนาจนมีรูปร่างคล้ายกับร่างกายของมนุษย์แล้ว กลุ่มเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นแขนและขาในสัปดาห์นี้ยาวและแข็งแรงขึ้นมาก ในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า กลุ่มเซลล์ของแขนเล็ก ๆ นี้จะกลายมาเป็นสัดส่วนของมือ แขน และไหล่ เช่นเดียวกันกับกลุ่มเซลล์ของขาที่จะกลายมาเป็นเป็นขา เข่า และเท้า

อวัยวะภายใน: ไตเล็ก ๆ ของลูกเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วในขณะที่ตับอ่อนและม้ามกำลังสร้างขึ้น

คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ในช่วงนี้ อาการหลัก ๆ ที่คุณแม่จะพบได้คืออาการปวดปัสสาวะบ่อย ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นไปเบียดบริเวณกระเพาะปัสสาวะ และการไหลเวียนของเลือดที่เพิ่มขึ้นเพื่อไปช่วยหล่อเลี้ยงให้ลูกเจริญเติบโต ส่วนอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้อาจลดลงในช่วงกลางของไตรมาสที่สอง แต่อาการปัสสาวะบ่อยนี้จะยังคงอยู่และอาจเพิ่มขึ้นทุก ๆ เดือนไปจนกว่าลูกจะคลอด

รสนิยมของคุณแม่อาจเปลี่ยนไป: ระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นในร่างกายอาจส่งผลให้คุณแม่มีความรู้สึกอยากทานอาหารแปลก ๆ  หรือไม่อยากทานอะไรเลยก็เป็นได้  คุณแม่บางท่านอาจมีสิวขึ้นหรือต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
สมองของลูกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ คุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงสารพิษทุกชนิด และควรหลีกเลี่ยงเหตุการณ์หรือความขัดแย้งที่อาจก่อให้เกิดความเครียด เพราะความเครียดจะทำให้ร่างกายของคุณแม่หลั่งฮอร์โมน Cortisol หรือ ฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา หากมีฮอร์โมน Cortisol ปริมาณมากเกินไปอาจจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกได้

ในเร็ว ๆ นี้ หน้าอกของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บและไม่สบายตัว คุณแม่อาจลองปรับมาใช้ชุดชั้นในสำหรับคนท้องเพื่อรับมือกับอาการเหล่านี้

โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน