การปั๊มและเก็บรักษานมแม่
นมแม่
หากคุณแม่ที่ให้นมลูกนั้นต้องห่างจากลูกน้อยเป็นเวลานาน หรือไม่อยู่กับลูกในช่วงที่ต้องให้นม คุณแม่สามารถปั๊มนมเก็บไว้ได้
การปั๊มนมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่คุณแม่หลายท่านเลือกเพื่อทดแทนการให้นมจากเต้า ดังนั้นหน้าที่ของคุณแม่คือการปรับสมดุลระหว่างการปั๊มนมและการให้ลูกดูดนมจากเต้าเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับลูก
เริ่มอย่างไร
คุณแม่สามารถเริ่มจากการปั๊มนมต่อหลังจากที่ลูกดูดเสร็จแล้วเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายยังคงผลิตน้ำนมเพิ่ม หรือคุณแม่สามารถสลับรอบการให้นมเป็นการปั๊มแทนเพื่อที่จะได้มีสต๊อกเก็บไว้ในยามที่คุณแม่ไม่อยู่ และลูกน้อยก็ยังได้ฝึกการดูดนมจากขวดอีกด้วย การปั๊มนั้นอาจจะปั๊มนานกว่าระยะเวลาที่ลูกเข้าเต้าซักเล็กน้อยก็ได้
ควรปั๊มเยอะและนานเท่าไหร่
หลักการปั๊มนมนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมของคุณแม่และความต้องการของลูก ถ้าเขามีความต้องการนมแม่มาก ร่างกายของคุณแม่ก็จะปรับให้มีการผลิตน้ำนมที่มากขึ้นตามไปด้วย กล่าวได้ว่าคุณแม่สามารถจัดความถี่ของรอบการปั๊มนมและระยะเวลาปั๊มต่อรอบได้จากปริมาณการดูดนมจากเต้าของลูกในแต่ละครั้ง
โดยปกติแล้วทารกต้องการนมประมาณ 25-35 ออนซ์ (740-1,000 มิลลิลิตร) ต่อวันโดยแบ่งเป็นหลาย ๆ มื้อ คุณแม่สามารถเลือกที่จะปั๊มนมในเวลากลางวันทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงโดยใช้เวลาปั๊มข้างละ 15 นาที และอีก 2 รอบในเวลากลางคืน เผื่อน้ำนมน้อยลงในวันต่อมา
หากต้องปั๊มนมในที่ทำงาน ให้คุณแม่ปั๊มหนึ่งครั้งก่อนออกจากบ้าน และในที่ทำงานอาจจะปั๊มช่วงเวลาเดียวกันกับเวลากินนมของลูก หรือทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง และเพื่อให้ประสิทธิภาพมากที่สุด คุณแม่อาจปั๊มช่วงพักเที่ยงก็ได้ ซึ่งระยะเวลาปั๊มแต่ละรอบจะอยู่ที่ประมาณ 15-20 นาทีหากใช้เครื่องปั๊มไฟฟ้าและปั๊มสองข้างพร้อมกัน ทั้งนี้คุณแม่อาจต้องใช้เวลาสักพักเพื่อที่จะพบวิธีการปั๊มนมที่เหมาะสม
ถ้าคุณแม่ให้ลูกดูดนมจากเต้าเป็นหลัก
- แนะนำให้คุณแม่ปั๊มนมในตอนเช้าเพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตน้ำนมมากที่สุด
- ปั๊มนมก่อนหรือหลังจากที่ให้ลูกดูดนม 1 ชั่วโมงเพื่อสำรองนมไว้ให้เขาในกรณีที่น้ำนมมีน้อย
ถ้าคุณแม่ปั๊มนมเป็นหลัก
- ตั้งเป้าหมายการปั๊มนมไว้ที่ 8-10 รอบต่อวัน
- ระยะเวลาปั๊มต่อรอบ ให้ปั๊มจนกว่าจะได้น้ำนมปริมาณ 3-6 ออนซ์ (90-180 มิลลิลิตร) หากปริมาณน้ำนมคงที่แล้วคุณแม่สามารถปรับความถี่ของรอบต่อวันได้ตามเหมาะสมเพื่อให้มีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกอยู่ที่ประมาณ 25-35 ออนซ์ (740-900 มิลลิลิตร) ต่อวัน
ทำสต๊อกและจัดเก็บอย่างไร
คุณแม่ควรทำสต๊อกน้ำนมให้ได้มากที่สุด โดยเตรียมล่วงหน้า 2-3 สัปดาห์ก่อนเริ่มกลับไปทำงาน ทั้งนี้น้ำนมที่ลูกควรได้รับในแต่ละวัน คือ 25-30 ออนซ์ (750-900 มิลลิลิตร) น้ำนมที่ปั๊มออกมาแล้วนั้นควรเก็บไว้ในตู้แช่แข็งและระบุวันที่เวลา อย่างชัดเจน น้ำนมที่อายุเยอะที่สุดควรนำมาให้ลูกกินก่อน
หากบางรอบปั๊มน้ำนมออกมาได้ไม่เยอะ คุณแม่สามารถเก็บเข้าตู้เย็นเพื่อรวมกับน้ำนมที่ปั๊มในรอบต่อไปได้
โดยปกติแล้ว CDC แนะนำว่าน้ำนมแช่แข็งนั้นควรบริโภคภายใน 6 เดือน และควรละลายน้ำนมโดยการเอาถุงจุ่มลงไปในน้ำอุ่นเพื่อให้นมค่อย ๆ ละลาย ไม่แนะนำให้ใส่ไมโครเวฟ นมที่ละลายแล้วนั้นสามารถอยู่ในตู้เย็นได้นานถึง 24 ชั่วโมง และควรทิ้งภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากเอาออกมาอยู่ในอุณหภูมิห้อง น้ำนมที่เพิ่งปั๊มออกมาสามารถอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง และอยู่ในตู้เย็นได้ไม่เกิน 4 วัน ไม่ควรน้ำนมที่ละลายแล้วและเหลือไปแช่แข็งอีกรอบโดยเด็ดขาด
หากคุณแม่พบว่าตัวเองไม่สามารถปั๊มนมได้มากพอ คุณแม่ไม่ต้องกดดันตัวเอง เพราะแม่และลูกแต่ละคู่ต่างกัน เช่นเดียวกับจำนวนน้ำนมในแต่ละวันหรือแต่ละอาทิตย์ก็ต่างกัน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)