ปัญหาทางสายตา
สุขภาพของลูก
สุขภาพตาที่ดีเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ เนื่องจากปัญหาด้านการมองเห็นหลาย ๆ อย่างนั้นสามารถรักษาให้หายได้หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ทำให้การตรวจสุขภาพตาของลูกเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพตาของเด็ก
- เด็กแรกเกิด ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาโดยทั่วไปตั้งแต่หลังคลอด
- เด็กวัยทารก ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีนัดตรวจร่างกายกับกุมารแพทย์
- เด็กวัย 3 ขวบครึ่ง ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาและการทดสอบสายตา (การทดสอบเพื่อวัดความคมชัดของการมองเห็น) กับกุมารแพทย์หรือแพทย์ประจำตัว
- เด็กวัย 5 ขวบ ควรได้รับการตรวจสอบการมองเห็นและตรวจหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาโดยกุมารแพทย์หรือแพทย์ประจำตัว เด็กที่ไม่ผ่านการทดสอบควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยจักษุแพทย์เฉพาะทาง
- เด็กวัย 6 ขวบขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองภายในโรงเรียน (เนื่องจากครูผู้สอนอาจไม่ทันสังเกตความผิดปกติในการมองเห็นของนักเรียน)
ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
สัญญาณบ่งบอกว่าเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นนั้นอาจรวมถึง:
- ขยี้ตาบ่อยครั้ง
- ตาไวต่อแสงมาก
- โฟกัสได้ไม่ดี
- ใช้ตามองตามวัตถุได้ไม่ดี
- ดวงตาไม่มองไปทางเดียวกัน หรือการเคลื่อนไหวของดวงตาผิดปกติ (ในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป)
- ตาแดงเรื้อรัง
- น้ำตาไหลเรื้อรัง
- รูม่านตามีสีขาวแทนที่จะเป็นสีดำ
เด็กในวัยเรียนอาจมีสัญญาณบ่งบอกเพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้:
- ไม่สามารถมองเห็นวัตถุในระยะไกลได้
- มีปัญหาในการอ่านตัวหนังสือบนกระดานดำ
- ตาเหล่
- มีความยากลำบากในการอ่านหนังสือ
- ดูทีวีใกล้เกินไป
ปัญหาสุขภาพตาทั่วไป
ปัญหาต่อไปนี้เป็นปัญหาทางสุขภาพตาทั่วไป ที่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจสายตาและสามารถรักษาได้
- โรคตาขี้เกียจ คือการมองเห็นของสายตาที่ไม่ดี ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ สาเหตุที่พบบ่อย 2 ประการ คือตาเหล่ และมีข้อผิดพลาดในการหักเหของแสงระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง หากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาจเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียความสามารถในการมองเห็นได้ในดวงตาที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากสมองจะเริ่มไม่ตอบสนองต่อสัญญาณจากดวงตาข้างนั้น
- ตาเขหรือตาเหล่ คือภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน หากตาข้างนั้นเหล่ก็อาจมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย หากสามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แพทย์อาจสามารถแก้ไขการมองและแนวการมองของสายตาได้โดยการจัดแนวการมองของสายตาให้เหมาะสม การผ่าตัดหรือการสวมแว่นตาที่ออกแบบมาสำหรับโรคตาเขโดยเฉพาะก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
- ภาวะสายตาผิดปกติ หมายถึงภาวะที่การโฟกัสของลูกตาไม่สมดุลกับความยาวลูกตา จึงทำให้ไม่สามารถโฟกัสภาพที่ชัดเจนให้ตกลงบนจอประสาทตาได้ จึงทำให้มองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน โดยภาวะสายตาสั้น เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กวัยเรียน และยังมีความผิดปกติอื่น ๆ ได้แก่ สายตายาว และสายตาเอียง ภาวะสายตาผิดปกติก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้เช่นกัน
ความผิดปกติของดวงตาบางอย่าง เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตาในทารก จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยทันที
แว่นตาสำหรับเด็ก
เด็กทุกวัยแม้กระทั่งทารกสามารถสวมแว่นตาได้ ต่อไปนี้คือเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการใช้แว่นตาสำหรับเด็ก:
- ปล่อยให้ลูกเลือกกรอบแว่นตาที่ชอบด้วยตัวเอง
- กรอบแว่นตาแบบพลาสติกปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
- หากลูกโตขึ้น คุณแม่สามารถให้ลูกสวมแว่นตาโครงเหล็กได้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ากรอบแว่นนั้นใช้บานพับสปริงซึ่งมีความทนทานมากกว่าแบบอื่น
- สำหรับเด็กวัยหัดเดินควรเลือกใช้แว่นแบบที่มีสายคล้องยางยืดติดกับแว่นตา ซึ่งจะช่วยให้แว่นตาอยู่กับที่ขณะใช้งาน
- เด็กที่มีปัญหาทางสายตารุนแรงอาจจำเป็นต้องใช้เลนส์ย่อบาง ซึ่งจะบางกว่า เบากว่า และมีราคาสูงกว่าเลนส์ทั่วไป
คอนแทคเลนส์
เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไปอาจต้องการใช้คอนแทคเลนส์ด้วยเหตุผลทางด้านความสวยงาม หรือความคล่องตัวในการเล่นกีฬา ในการสวมใส่คอนแทคเลนส์ เด็กจะต้องรู้วิธีการใส่และถอดเลนส์อย่างถูกต้อง ถอดเลนส์ออกตามอายุการใช้งาน และทำความสะอาดตามคำแนะนำของแพทย์ คุณแม่ควรทราบว่าเด็กที่มีภาวะต้อกระจกแต่กำเนิดอาจจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์หลังการผ่าตัดต้อกระจก