น้ำตาล
เมนูลูกรัก
น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวที่ร่างกายของลูกน้อยจะนำมาใช้เป็นพลังงาน อาหารที่มีน้ำตาลผสมอยู่ตามธรรมชาติได้แก่ผลไม้ ผัก และนม นอกจากนี้น้ำตาลยังอยู่ในอาหารที่ผ่านกระบวนการและการปรุงรสเพื่อให้มีรสหวาน
น่าเสียดายที่เด็ก ๆ หลายคนได้รับน้ำตาลจากแหล่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพปริมาณมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นจากขนม หรือเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ซึ่งการได้รับน้ำตาลแบบนี้จะทำให้เกิดการสะสมไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
น้ำตาลที่ดี และน้ำตาลที่ไม่ดี
ในขณะที่น้ำตาลตามธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในอาหาร เช่น นม, ผลไม้ และผักนั้นดีต่อสุขภาพของลูก แต่อาหารที่ผ่านกระบวนการ “เติมน้ำตาล” และสารให้ความหวานต่าง ๆ จะให้แคลอรีสูง แต่สารอาหารต่ำ
น้ำตาลมีผลต่อสมองของเด็กอย่างไร
น้ำตาลส่วนเกินจะส่งผลเสียต่อทั่วทั้งร่างกาย หากปริมาณน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดของเด็กสูงขึ้นเพียงชั่วระยะหนึ่งก็อาจเป็นอันตรายต่อสมอง ส่งผลให้การคิดวิเคราะห์ช้าลง เสียความทรงจำและเสียสมาธิได้ นี่เป็นเพราะน้ำตาลออกฤทธิ์คล้ายยาเสพติดต่อสมองส่วนที่ตอบสนองต่อการให้รางวัล ซึ่งเป็นการออกฤทธิ์แบบเดียวกับเกลือและอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลอาจทำให้เกิดอาการคล้ายการเสพติดในสมองของมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียการควบคุมตัวเอง กินมากเกินไป และน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามมาได้
ชื่อเรียกต่าง ๆ ของน้ำตาลที่ไม่ดี
น้ำตาลที่เติมในอาหารมักมีชื่อเรียกต่าง ๆ บนฉลากอาหารซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรระวัง ชื่อของน้ำตาลมีดังนี้:
- น้ำเชื่อม agave
- น้ำตาลอ้อย
- น้ำตาลอินเวิร์ต
- ซูโครส
- น้ำตาลดิบ
- น้ำเชื่อมข้าวโพด
- น้ำตาลข้าว
- มอลโตส
- น้ำอ้อยเข้มข้นสกัด
- ฟรุคโตส
- น้ำเชื่อมมอลต์
- กลูโคส
อาหารที่เด็ก ๆ มักทานบ่อยและมีการเติมน้ำตาล
- เครื่องดื่มอัดลม
- เครื่องดื่มใส่น้ำผลไม้
- เบอร์เกอร์
- เค้ก
- ขนมอบ
- บิสกิต
- ซีเรียลอาหารเช้า
- โยเกิร์ต
- ขนมหวาน ลูกอม
- ช็อกโกแลต
- ไอศกรีม
ปริมาณน้ำตาลที่ลูกควรบริโภค
ปริมาณน้ำตาลหรือสารให้ความหวานสูงสุดที่เติมในอาหารที่เด็กควรบริโภคต่อวันมีดังนี้:
- อายุ 0 – 2 ปี : 0 กรัมต่อวัน
- อายุ 4 – 6 ปี : 19 กรัมต่อวัน (5 ก้อน)
- อายุ 7 – 10 ปี : 24 กรัมต่อวัน (6 ก้อน)
- อายุมากกว่า 11 ปี : 30 กรัมต่อวัน (7 ก้อน)
โปรดทราบว่าน้ำอัดลม 1 กระป๋องมีปริมาณน้ำตาลประมาณ 10 ก้อน
อันตรายของการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป
การบริโภคอาหารที่มีการเติมน้ำตาลอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในเด็กได้ โดยอาจมีปัญหาดังนี้
- ฟันผุ: น้ำตาลปริมาณสูงจะทำให้ฟันเป็นโพรงได้
- ไขมันอันตราย: การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปทำให้เกิดการสร้างไขมันเลวในร่างกายของเด็ก ซึ่งจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อโรคร้าย เช่น เบาหวานประเภทที่ 2
- โรคหัวใจและมะเร็ง: การทานน้ำตาลมากเกินไปทำให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด
เทคนิคในการลดปริมาณน้ำตาล
- ให้ลูกทานของหวานเป็นผลไม้ แทนที่จะเป็นเค้ก, คุกกี้, ไอศครีม หรือขนมหวานอื่น ๆ
- ส่งเสริมให้ลูกน้อยดื่มน้ำ หรือน้ำผลไม้ที่มีการเจือจางแทนการดื่มน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีรสหวานจัด
- ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ 100% ที่ไม่เติมน้ำตาลเสมอ
- ไม่ควรให้ขนมเป็นของขวัญ
- จำกัดเวลาหรือจำนวนวันต่อสัปดาห์ที่จะอนุญาติให้ลูกทานขนมได้ เช่น ทานไอติมได้ 1 ถ้วย ในวันอาทิตย์เท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในโซนขนมและของหวานในซุปเปอร์มาร์เก็ต
การจำกัดปริมาณน้ำตาลที่ลูกบริโภคไม่เพียงแต่จะช่วยลูกน้อยจากความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงเท่านั้น แต่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่แน่ใจได้ว่าลูกจะได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการครบถ้วนโดยไม่บริโภคแคลอรีมากเกินไปอีกด้วย
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (15 กรกฎาคม 2021)