ดาวน์โหลดแอป

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสัปดาห์แรก

นมแม่

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสัปดาห์แรก

อาทิตย์แรกหลังคลอดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ สำหรับคุณแม่มือใหม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมจะกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตประจำวันตลอด 6-24 เดือนต่อจากนี้ คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยให้คุณแม่มีความมั่นใจมากขึ้นเมื่อต้องเริ่มให้นมลูก

ทำไมสัปดาห์แรกจึงมีความสำคัญ?
ในช่วงสัปดาห์แรกคุณแม่และลูกจะได้ทำความรู้จักกัน และคุณแม่อาจต้องใช้เวลาสักพักเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าอะไรได้ผล หรืออะไรไม่ได้ผล โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นได้นั้นเป็นดังนี้:

วันที่ 1: หลังจากที่คลอดลูก ปริมาณฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่จะลดลงทันที และฮอร์โมนการให้นมโปรแลคตินจะเริ่มทำงานโดยส่งสัญญาณให้ร่างกายเริ่มผลิตน้ำนม แต่กว่าน้ำนมคุณแม่จะมานั้น อาจจะต้องใช้เวลา 3-5 วัน เพราะฉะนั้นคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลหากช่วงแรก ๆ น้ำนมยังมีไม่เยอะ

หลังคลอด ลูกน้อยอาจรู้สึกง่วงนอนเกือบตลอดวัน แต่คุณแม่ควรให้นมภายใน 30 นาทีหลังคลอด และลูกจะดื่มน้ำนมได้เพียงปริมาณเล็กน้อยในแต่ละมื้อ (ประมาณครั้งละ 1 ช้อนชา) ซึ่งหมายความว่าคุณแม่จะต้องให้นมบ่อยครั้ง โดยประมาณทุก ๆ 1-3 ชั่วโมง

วันแรกเต้านมของคุณแม่จะผลิตของเหลวที่เรียกว่าโคลอสตรุม หรือน้ำนมเหลืองซึ่งอุดมไปด้วยสารอิมมูโนโกลบูลิน ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกคลอด เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับลูกน้อยในการได้รับน้ำนมเหลืองนี้

วันที่ 2:  ลูกอาจจะต้องการดูดนมบ่อยขึ้น อาจจะทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง อุจจาระแรกของลูกจะมีสีดำอมเขียว และอาจจะปัสสาวะอย่างน้อยสองครั้งต่อวัน ซึ่งความถี่นี้เป็นค่าเฉลี่ยคร่าว ๆ เท่านั้น ไม่จำเป็นว่าทารกทุกคนจะปัสสาวะตามจำนวนเท่านี้

นอกเหนือจากการที่ลูกจะได้รับน้ำนมเหลืองอย่างเพียงพอแล้ว การให้นมแม่บ่อย ๆ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้เต็มที่ ในขณะที่ลูกดูดนม ร่างกายจะผลิตฮอร์โมน oxytocin ออกมามากขึ้น และฮอร์โมนนี้จะส่งสัญญาณไปให้ กล้ามเนื้อในเต้านมให้บีบน้ำนมไปที่หัวนม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่ากลไกการหลั่งน้ำนม คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บแปล๊บที่หัวนมระหว่างที่ลูกกำลังดูดนม และเมื่อน้ำนมไหลออกมา คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกสับเปลี่ยนจากการดูด เป็นการกลืนและสลับไปดูดใหม่อีกครั้ง

วันที่ 3: น้ำนมคุณแม่เริ่มมา และลูกอาจต้องการดูดนมยาวขึ้นและถี่น้อยลง อุจจาระจะเริ่มกลายเป็นสีน้ำตาลอมเขียว

หากลูกน้อยนั้นยังเข้าเต้าไม่ได้เต็มที่ คุณแม่อาจจะยังคงมีอาการเจ็บหัวนมอยู่ ใช้หยดน้ำนมที่ไหลออกมาทาไว้ที่หัวนมแล้วปล่อยให้แห้งสามารถช่วยบรรเทาอาการแตกได้ แต่แนะนำให้พยายามให้นมต่อไป อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ

วันที่ 4: น้ำนมขาวของคุณแม่จะเริ่มมาเยอะมากขึ้น  ลูกอาจจะดูดนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง อุจจาระจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด และอาจปัสสาวะอย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง

ช่วงนี้คุณแม่อาจจะสังเกตว่าลูกเริ่มมีอาการส่ายหัวไปมาและทำฟึดฟัด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังหิว และเป็นรีเฟลกซ์ทางธรรมชาติ แต่บางครั้งเวลาน้ำนมเริ่มไหลนั้น ปริมาณการไหลอาจจะเร็วและเยอะเกินไป ทำให้เวลาลูกน้อยเริ่มดูดอาจจะสำลักได้ หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พักสักครู่ก่อนที่จะให้นมต่อไป

วันที่ 5: น้ำนมจะไหลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณ 500-800 มล. ต่อวัน ลูกน้อยอาจอุจจาระ 3–4 ครั้งต่อวัน และปัสสาวะ 5 ครั้งขึ้นไป

ไม่ต้องกังวลหากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดูดนมบ่อยมาก และกลัวว่าจะเป็นเพราะน้ำนมมีไม่มากพอ หากลูกร้องหิวบ่อย สามารถให้นมได้บ่อย ๆ ตามที่ลูกต้องการ เพราะการให้นมเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วทารกจะดื่มนมประมาณ 8-12 ครั้งต่อวันในช่วงสัปดาห์แรก

วันที่ 6: ลูกจะดูดนมนานขึ้นในแต่ละรอบ และจะปัสสาวะบ่อยมากขึ้นเช่นกัน

หากคุณแม่รู้สึกว่าน้ำนมยังมาไม่มากพอ อย่ากังวลหรือเครียดมากเกินไป เพราะความเครียดนั้นจะทำให้ร่างกายผลิตคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดที่มีผลต่อฮอร์โมน oxytocin ที่เป็นตัวส่งสัญญาณบอกร่างกายให้สูบฉีดน้ำนมออกมาจากเต้า หากฮอร์โมนมีน้อย น้ำนมก็จะไหลช้าลง พยายามผ่อนคลายและโฟกัสไปที่การสายสัมพันธ์กับลูกน้อยแทน

วันที่ 7: คุณแม่กับลูกน่าจะเริ่มพอเข้าใจกันมากขึ้น เข้าเต้าได้ดีขึ้น อาการกังวลและความเจ็บเต้านมก็เริ่มลดลง

การเข้าเต้าอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้นมแม่อย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำนมและลดอาการคัดเต้าหรือท่อน้ำนมตัน พยายามให้ลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรแลคตินมากที่สุด เพราะมันจะเป็นตัวส่งสัญญาณบอกให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้นเรื่อย ๆ

อย่าลืมว่าร่างกายคุณแม่แต่ละคนไม่เหมือนกัน และใช้เวลาในการผลิตน้ำนมต่างกัน พยายามลดความกังวลลง และเชื่อว่าร่างกายนั้นจะสามารถปรับสภาพตามความต้องการของลูกน้อยได้ในที่สุด

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน